walker นักเดินทางด้วยเท้า

 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  |  
 ตะกร้าสินค้า (0)

รอบรู้เมืองลาว    เวียงจันทน์   ตำนานโขง  หลวงพระบาง  งานแข่งเรือ  วัดต่างๆ ในหลวงพระบาง  จำปาสัก    โปรแกรมเที่ยวหลวงพระบาง (Root) 2010122_47288.gif 

 

(Root) 2009716_45224.jpg

  

ปราสาทวัดพู

    วัดพู เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ใน นครจำปาสัก ลาวตอนใต้ เป็นปราสาทหินขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้น ในสมัยของขอมรุ่งเรือง ตั้งอยู่บริเวณ เขาศิวบรรพต หรือ ที่ชาวลาวเรียกว่า ภูเกล้า  เป็นภูเขาที่มียอด ลักษณะ คล้ายๆ ศิวลึงค์ ซึ่งจะเรียก สวยัมภูวลึงค์ คือศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตาม ธรรมชาตินั้น จึงแรงจูงใจในการสร้างเทวาลัย เพื่อประดิษฐานรูปเคารพ ตามความเชื่อของ ฮินดู ปราสาทวัดพู นั้นมีฐานะ ถึงขั้นเป็น อาราม หลวง  ตามประวัตินั้นวัดพูได้ทำการก่อสร้างก่อน เขาพระวิหาร (เปรี๊ยะวิเฮียร์) และ พนมรุ้ง (วะนัมรุง) ซึ่งคาดว่า ผู้ก่อสร้างน่าจะอยู่ในราชวงศ์เดียวกัน
    ปราสาทหินวัดพู เป็นสถาปัตยกรรมสมัยนครวัด ที่เก่าแก่ ตั้งอยู่บนภูเกล้า ประมาณ 6 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของเมืองจำปาสัก แขวงจำปาสัก สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นบนเมืองเก่า ของจาม พบร่องรอยวัฒนธรรมของพวกจามที่รับมาจากอินเดีย  เมื่อประมาณศตวรรษที่ 4 และที่ 5  สมัยนั้นอาณาจักรจามปา (ภาคกลาง ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในปัจจุบัน) ขยายอำนาจไปทาง ทิศตะวันตกจนถึงบริเวณวัดพูจำปาสัก แม่น้ำโขง และแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นสมัยที่ขอมอยู่ใต้อำนาจของฟูนัน ต่อมา พระเจ้าไชยวรมันที่ 1 มีบทบาทขึ้นบนแผ่นดินแถบนี้ในทุกวันมาฆบูชา เพ็ญเดือน 3 ของทุกปี  ชาวเมืองจำปาสักจะพร้อมใจกันทำบุญ นมัสการปราสาทหินวัดพู
  (Root) 2009730_54632.jpg(Root) 2009730_54644.jpg(Root) 2009730_54657.jpg
     ปราสาทวัดพูนั้นสร้างด้วยหินทราย เริ่มต้นด้วยทางเดินที่มี เสานาง เรียงหลายสิบต้นขนาบทั้ง 2 ด้านและบ่อน้ำขนาดใหญ่ มุ่งสู่ ปราสาทพลับพลา หลังใหญ่ 2 หลัง ถือเป็นชั้นแรก จากหลักฐานและ ข้อมูลในหอพิพิธภัณฑ์วัดพูกล่าวว่าปราสาทสองหลังนี้ น่าจะเป็น พลับพลาเปลื้องเครื่องสำหรับกษัตริย์ ก่อนเดินขึ้นสู่การทำพิธี โสรจสรง1 เมื่อเดินขึ้นไปชั้นที่ 2 จะพบกับซากโคปุระ (ซุ้มประตู) หน้าบัน และทับหลัง ที่พังทลายลงมา ชั้นที่สาม มีรูปสลักของ พระยากรมท่า ซึ่งชาวลาวเชื่อว่า เป็นผู้สร้างปราสาทนี้ขึ้นโดยพนันแข่งกันสร้างปราสาทกับอีกเมืองหนึ่ง แล้วแพ้จึงอกแตกตายอยู่ที่นี่ แต่ตามฮินดูว่าเป็น ทวารบาล (ผู้เฝ้าประตู) บ้างว่าอาจเป็นรูปเคารพของกษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้วก็เป็นได้) ซ้ายมือ จะมีเศียรช้างแกะสลักขนาดใหญ่ เมื่อเดินไปทางขวาด้านล่างจะมีฐานโยนี ซึ่งเคยใช้เป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ในการประกอบพิธีวางอยู่ด้วย
    ชั้นสุดท้าย จะมีเทวาลัย ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของปราสาทวัดพู มีมณฑปยื่นออกมาจากองค์ปรางค์ มีรูปสลักที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ ภายในมีพระพุทธรูป (คาดว่าน่าจะนำมาแทนที่ศิวลึงค์) ทางขวามีโบสถ์ หลังเล็ก (สร้างขึ้นหลังจากศาสนา พุทธเข้ามาแทนฮินดู) ทาง ซ้ายมือ จะพบบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีน้ำใต้ดิน ซึมออกมาตามธรรมชาติ

บุญวัดพู จำปาสัก
การเดินทางในครั้งนี้คือจุดหมายปลายทางสุดท้ายซากอารยธรรมโบราณของประเทศลาว ...ข้าพเจ้าออกเดินทางจากเชียงของแวะไปสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง ของประเทศลาว หวนกลับเข้ากรุงเทพฯ ทำงานดิ้นรนกับวิถีแห่งการเอารัดเอาเปรียบเหยียบตีน หรือเหยียบกะโหลกกะลากันก้าวไปยังปลายฝันที่มีทรัพย์สินและวัตถุนิยม
สิ้นสุดการสนทนาจากโทรศัพท์มือถือข้าพเจ้ายังคงงงทิศเพราะตามเวลาที่กำหนดนั้นจะต้องถึงพระธาตุพนมแล้ว แต่เนื่องจากการเดินทางที่ล่าช้าเพราะการจราจรคับคั่งที่สถานีขนส่งหมอชิตในช่วงวันหยุดยาว ...รถติด!...ข้ออ้างประจำของชาวกรุงเทพฯ... กว่ารถโดยสารจะเคลื่อนตัวพ้นนครราชสีมาก็เกือบตี 1
9.00 น. ช้ากว่าเวลาที่นัดหมายกับคุณสุพรรณีเพื่อนชาวสกลนคร 2 ชั่วโมง... ข้าพเจ้าล้างหน้าล้างตาที่สถานีขนส่งอำเภอพระธาตุพนม แล้วข้ามถนนไปยังวัดพระธาตุพนมซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก เดินตุหรัดตุเหร่เรื่อยเปรื่อยรอคุณสุพรรณี เพื่อนชาวสกลนครที่อาสาทำหน้าที่มัคคุเทศก์จำเป็นสำหรับการเดินทางมานมัสการพระธาตุพนมของข้าพเจ้าในครั้งนี้
เดินไปเดินมาเลยออกมาทางประตูวัดด้านท่าเรือข้ามโขงจุดผ่อนปรนไทยลาว เห็นร้านข้าวเปียกเส้น ...อาหารร้อนที่ได้รับอิทธิพลมาจากเวียดนาม...
งานนมัสการพระธาตุพนม เป็นงานบุญใหญ่ที่สำคัญมากของชาวไทยอิสานและชาวลาวที่อยู่ฝั่งตรงข้าม เมื่อข้าพเจ้าไปถึงภายในวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารแล้ว เวลา 9 นาฬิกากว่าๆ ซึ่งดูเป็นเวลาสายๆ แดดที่นี่เริ่มแรงกล้า และประชาชนทั้งชาวไทยและลาวต่างทยอยเข้ามานมัสการพระธาตุพนมอย่างเนืองแน่น จนแทบจะขยับร่างกายไม่ได้ ขะยุกขะยิกได้น้อยๆ ...ยังเช้านะนี่คนหลาย...
พระธาตุพนมนั้นเป็นพระบรมธาตุเจดีย์องค์สำคัญ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยและชาวลาวสองฝั่งโขง พระบรมธาตุนั้นบรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระมหากัสสปะเถระได้นำมาประดิษฐานไว้บนภูกำพร้า
ตำนานของชาวลาวและชาวอิสานกล่าวไว้ว่า สร้างโดยกษัตริย์ห้าพระองค์คือ พระยาจุฬณีพรหมทัต พระยานันทเสน พระยาอินทปัต พระยาคำแดง และพระยาสุวรรณภิงคาร พร้อมไพร่พล ในส่วนลวดลายที่เรือนธาตุนั้นตำนานเล่าว่าตกแต่งโดยพระอินทร์และเหล่าเทวดา มีแผ่นอิฐที่จำหลักลวดลายเป็นภาพกษัตริย์โบราณ ฝีมือช่างพื้นบ้าน ศิลปะสมัยทวารวดี หรือพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕ นับว่าเป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่เก่าแก่ของภาค อิสาน
พระธาตุพนมได้รับการบูรณะและอุปถัมภ์โดยกษัตริย์แห้งล้าน ช้าง ในสมัย พ.ศ. ๒๒๒๓-๒๒๒๕ พระครูโพนเสม็ด (ญาคูขี้หอม) นำราษฎรจากเวียงจันทร์ ๓,๐๐๐ คนมาปฏิสังขรณ์พระธาตุให้สูงขึ้น และเป็นรูปแบบที่นิยมในอีสาน ต่อมาทางรัฐบาลได้บูรณะให้สูงขึ้นอีกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ แต่ในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘ เกิดฝนตกหนักและพระธาตุพนมได้ทรุดพังทลายลง แต่ก็ได้รับการบูรณะโดยภาครัฐและเอกชนเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒
นอกจากนี้ภายในวัดมีบ่อน้ำพระอินทร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดของบ่อน้ำที่ใช้น้ำมาเสกน้ำพระพุทธมนต์ในพระราชพิธีบรม ราชาภิเษกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖
งานนมัสการพระธาตุพนมจัดขึ้นทุกปีในวันขึ้น ๑๐ ค่ำ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓
หลังจากข้าพเจ้าได้มานมัสการพระธาตุพนมแล้ว ความหิวป่วนกระเพาะทำให้ต้องหาอาหารรองท้องก่อนออกเดินทางต่อ เพราะข้าพเจ้ามีเวลาที่กระชับ จุดหมายการเดินทางอีกยาวไกลจนแทบไม่มีเวลาพักเต็มอิ่มเท่าไหร่ และทุกอย่างคลาดเคลื่อนตั้งแต่เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ด้วยเหตุผลเดิมคือรถติด
คุณสุพรรณีพาข้าพเจ้ามานั่งรับประทานอาหารที่ร้านริมโขงใกล้ๆ กับจุดผ่อนปรนอำเภอธาตุพนม ตรงข้ามกับเมืองหนองบก  แขวงคำม่วน ของ สปป.ลาว นั่งมองเรือข้ามฟากที่มีชาวลาวเต็มลำเรือเดินทางมานมัสการพระธาตุพนม ร้านอาหารบริเวณนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเพิง แน่นอนครับ ส้มตำปูปลาร้า ไก่ย่าง ไส้ย่าง และปลาเผาเกลือ ข้าวเหนียว...ขาดไม่ได้ คนเยอะไปหน่อย ปลาเผาไม่ทัน...อดกิน... วาสนาไม่ถึงจริงๆ
ใจหนึ่งอยากเดินทางไปนมัสการพระธาตุอิงฮัง ที่สะหวันนะเขด สปป.ลาว โดยสามารถเดินทางข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว  2 ที่มุกดาหาร เมื่อตัดสินใจได้ว่าควรข้ามไปนมัสการ จึงต้องล่ำลาคุณสุพรรณีในเวลาบ่ายกว่าๆ
รถโดยสารธรรมดาสีเขียวสายสกลนคร-อุบลราชธานี เคลื่อนตัวช้าๆ ออกจากสถานีในเวลาเกือบบ่าย 2 โมง มีประชาชนเบียดเสียดกันขึ้นรถเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าที่นั่งเต็มแถมที่ยืนยังแทบจะหาไม่ได้... สุดท้ายข้าพเจ้าก็แทรกกายเข้าไปยืนกลางรถ ใกล้ๆ กับหญิงสาวที่นั่งหลับคนหนึ่ง รถแทบจะไม่เคลื่อนตัวเลย เนื่องจากมีพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมากเดินทางมานมัสการองค์พระธาตุพนม หลายนาทีของหลายนาที !... หญิงสาวที่หลับก็ตื่นสะลึมละลือมองออกไปนอกหน้าต่างแล้วก็ถอดลมหายใจออกมาเฮือกหนึ่ง ...เฮ้อ..คล้ายว่าจะเสียอารมณ์จากการเดินทางที่ล่าช้า แล้วเธอก็หยิบมันแกวมากินรองท้องและแก้กระหาย รถตุเรงๆ พาข้าพเจ้ามาถึงมุกดาหารในเวลาบ่าย 3 โมงกว่าๆ นั่งรอรถระหว่างประเทศระหว่างมุกดาหาร-สะหวันนะเขด ซึ่งจะออกเวลา 3 โมงครึ่ง
ไม่ใช่การเดินทางมาประเทศลาวเป็นครั้งแรกของข้าพเจ้าแต่การมาที่สะหวันนะเขดในครั้งนี้ดูเหมือนจะสร้างความตื่นเต้นและกังวลใจมากเพราะจะต้องเดินทางกลับมายังสถานีรถมุกดาหารให้ทันเวลา 18.00 นาฬิกา แวบระบบความคิด... เมื่อมาแล้วก็ควรไปนมัสการพระธาตุอิงฮังสักครั้ง เพราะไม่รู้ว่าอีกเมื่อไหร่จะได้มาเยี่ยมเยือนแถบนี้อีก...เดินทางต้องลุ้นถึงจะเรียกว่าผจญภัย...
สำหรับการผจญภัยครั้งนี้ไม่มีตัวแปรมากนอกจากเวลาเท่านั้น ไม่ใช่การผจญภัยที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายหรือไปในที่ที่ไม่รู้ ...อีกด้านของมือ...!(แต่ในทางกลับกัน) ข้าพเจ้ารู้ แต่ไม่เคยไปเท่านั้นเอง หากเปรียบแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ในอเมริกาแล้วตัวข้าพเจ้าคงไม่ต่างจากทอมหรือฟินน์ ตัวละคอนจากวรรณกรรมสุดคลาสสิค เรื่อง การผจญภัยของทอม ซอว์เยอร์และการผจญภัยของฮัคเคิ่ลเบอร์รี่ ฟินน์ ของแซมวล แลงฮอร์น เคลเมนส์หรือที่รู้จักกันดีในนามปากกาว่า มาร์ค ทเวน ...นี่ข้าพเจ้าเปรียบเกินจริงไปเยอะแล้วนะนี่...เพราะข้าพเจ้าไม่ได้นั่งอยู่บนแพไม้ล่องตามลำน้ำ...หัวเราะ
ข้าพเจ้าขึ้นรถระหว่างประเทศมุกดาหาร-สะหวันนะเขด บังเอิญได้ที่นั่งข้างกับหญิงสาวที่นั่งกินมันแกวบนรถประจำทางสีเขียวจากพระธาตุพนมมามุกดาหาร
เธอเดินมานั่งทีหลังข้าพเจ้าและยิ้มอย่างไมตรี และก็เหมือนจะรู้ว่าข้าพเจ้าเป็นนักเดินทาง คุยกันไปสักคำสองคำจึงรู้ว่าเธอเป็นชาวลาวเดินทางมานมัสการพระธาตุพนมและจะไปทำงานที่สกลนครแต่ลืมเอกสารสำคัญบางอย่างจึงต้องกลับสะหวันนะเขดเพื่อไปนำเอกสารที่ลืมนั้นอีกครั้ง ข้าพเจ้าสอบถามเส้นทางที่จะไปนมัสการพระธาตุอิงฮังจากเธอ และเมื่อถึงสถานีรถสะหวันนะเขด เธอช่วยต่อรองราคารถตุ๊กตุ๊กให้ข้าพเจ้าด้วย
คนขับรถพาข้าพเจ้าเดินทางไปตามถนนหมายเลข 13 ...ถือได้ว่าเป็นถนนสายหลักของประเทศลาวจริงๆ เพราะมีความยาวที่สุดในลาวและตัดผ่านเมืองหลักสำคัญถึง 3 เมืองคือ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาสัก... ไม่นานก็ผ่านวงเวียนไดโนเสาร์ ที่เรียกเช่นนั้นก็เนื่องมาจากมีรูปปั้นไดโนเสาร์อยู่กลางวงเวียน และเป็นสัญลักษณ์บอกว่าบริเวณแถบเมืองสะหวันนะเขดนี้ได้ขุดค้นพบซากกระดูกไดโนเสาร์และนำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์สะหวันนะเขดเรียบร้อยแล้วสามารถเข้าไปชมได้
แดดอ่อนในเวลาใกล้ค่ำข้าพเจ้ากลับมารอรถข้ามประเทศกลับมามุกดาหาร
ข้าพเจ้าขึ้นรถจากมุกดาหารมุ่งหน้าสู่อุบลราชธานีในเวลา 19.00 น. คงถึงอุบลฯ ราว 21.00 น. ระหว่างทางคุณหนึ่งเพื่อนที่เลิงนกทา ...ยโสธร โทรศัพท์ชวนให้แวะค้างที่บ้านแล้วค่อยเดินทางต่อในวันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าต้องปฏิเสธไมตรี เพราะต้องตรวจเช็คเวลาเดินทางข้ามไปปากเซให้แน่นอน และได้ติดต่อคุณพี่ณัฐกานต์ไว้แล้ว ว่าจะขอพักซุกหัวนอนที่ใต้ถุนบ้าน ...นอนเฝ้าเล้าเป็ด... ถ้าเจ้าของเผลอจะจับเป็ดมาลาบ คราวนี้แหละข้าพเจ้าจะได้ลองลาบเป็ดอุบลฯ แท้ๆ ...
รถมาถึงสถานีขนส่งจังหวัดอุบลฯในเวลา 21.30 น. ล่าช้าไปครึ่งชั่วโมง คุณพี่ณัฐฯ มารับไปรองท้องด้วยข้าวต้มโต้รุ่ง ...หิวมากครับ...
พอถึงเล้าเป็ด ปรากฏว่าเป็ดขายไปหมดแล้ว ต้องรอรอบใหม่ เลยอดลักเป็ดไปทำลาบเลย... อาบน้ำเสร็จตรวจเช็คแบตเตอร์รี่กล้อง และชาร์จไฟ ...แอบใช้ไฟฟ้าที่บ้านพี่ณัฐฯ ด้วยความเพลียและต้องตื่นแต่เช้าให้ทันรถเที่ยว 8.00 น. ทำให้ต้องรีบหลับ
หลังจากได้น้ำอุ่นๆ ที่บ้านคุณพี่ณัฐฯ ทำให้หายมึนขี้ฟันของเช้าวันใหม่ คุณพี่ณัฐฯ ชงกาแฟโสม... กาแฟไรนี่...? ข้าพเจ้าสงสัยในใจ แต่อดถามไม่ได้ จึงได้คำตอบว่า โสมนี่จะช่วยเผาผลาญน้ำตาลที่ผสมในกาแฟ ...เป็นข้าพเจ้า ถ้ายุ่งยากก็ไม่ต้องใส่น้ำตาล...! ชิมดูกาแฟก็อร่อยดีมีบิสกิตเคี้ยว 3-4 ชิ้น พอรองท้อง
คุณพี่ณัฐฯ เป็นลูกครึ่ง...เวียดและลาว มาตั้งฐานที่มั่นที่เมืองอุบลฯ ตั้งแต่รุ่นคุณปู่ อายุอานามของคุณพี่ณัฐฯ ก็ราวๆ คุณจุ๋ม อุทุมพร ศิลาพันธ์ สมัยคุณพี่ณัฐฯ สาวๆ ก็คล้ายๆ คุณจุ๋มนั่นแหละ ประมาณว่าคุณจุ๋มเป็นขวัญใจของคุณพี่ณัฐฯ ครั้งสมัยเข้ามาล่าปริญญาในกรุงเทพมหานคร ...ดูรูปในตู้โชว์และผนังบ้าน แน่นอนครับว่ามนุษย์เราทุกคนย่อมมีขวัญใจหรืออะไรสักอย่างที่ได้รับมาจากสื่อและหลอมหลอกให้เราปฏิบัติตาม แต่งกายตาม ใช้ภาษาตาม แสดงกิริยาตาม ถ้าดีก็ดีไปถ้าก้าวร้าวก็แย่ไป ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังออกเดินทางเร่ร่อนเป็นเจ้าไม่มีศาลนี้ เด็กวัยรุ่นไทยผมสีทอง ไม่ใช้หวี ทรงผมใช้เสยๆ ให้ยุ่งเยิงพอประมาณแค่นี่ก็เท่ระเบิดระเบ้อแล้ว...ไม่รู้เอาแบบอย่างมาจากไหน...เขียนหนังสือก็แปลกๆ พูดจาก็แปลกๆ หาคำแปลก็ยาก เฉพาะกลุ่ม ก็ไม่ได้ผิดอะไรเพราะเป็นสิทธิเสรีภาพเบื้องต้นตามรัฐธรรมนูญไทย ...แล้วก็คงมีนายทุนผู้กล้าหาญสักคนกล้าเอาคำเหล่านั้นมาตีพิมพ์โดยไม่ยึดหลักราชบัณฑิตยสถานขายคงจะเป็นการฉวยโอกาสหาเงินเข้ากระเป๋าโดยไม่ต้องสนใจว่าภาษาจะวิบัติไปหรือไม่ ...บางทีอาจจะบอกว่าเป็นวิวัฒนาการทางภาษา... ชิลล์ ชิลล์ อยู่แว้ว...!!! อ้าวออกเดินทางไปขนส่งได้แล้วบ่นอะไรไม่ใช่หน้าที่...? เขียนเรื่องไปวัดพูเรื่องลาวๆ ต่อไปเถอะ...เสียงสมองอีกด้านสั่ง..
ออกจากบ้านคุณพี่ณัฐฯ ไปตามถนนเทศบาล แวะรับมื้อเช้าแบบชาวเวียด... มีก๋วบจั๊บญวน กับปอเปี๊ยญวน หากถามข้าพเจ้าว่ารสชาติเป็นอย่างไรหรือลักษณะของอาหารเป็นอย่างไร ...อิ่มครับ
อิ่มท้องแล้วเดินทางต่อ คุณพี่ณัฐฯ มาส่งข้าพเจ้าที่ขนส่งอุบลฯ หลังจากตีตั๋วเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สนทนาเรื่องเส้นทางไปปราสาทวัดพู เพราะคุณพี่ณัฐฯ ได้เคยขับรถพาครอบครัวเดินทางไปก่อนหน้านี้แล้ว ใกล้เวลารถออกก็ล่ำลากัน ข้าพเจ้ายกมือไหว้ขอบคุณในไมตรีที่ได้รับจากคุณพี่ณัฐกานต์อย่างไม่รู้ว่าจะได้ตอบแทบหรือมารับไมตรีอีกเมื่อไหร่
รถระหว่างประเทศอุบลราชธานี-ปากเซ เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ชาวลาวมีไม่มากนัก ข้าพเจ้าได้นั่งหลังสุดติดกับผู้หญิงชาวลาว แน่นอนว่าเหมือนเดิมคือ...มาเที่ยวหรือ... นี่แหละคำเริ่มต้นของการทำความรู้จัก... น้องดาว (สงวนนามสกุล...เธอยื่นใบแรงงานต่างด้าวให้ดู) เป็นแรงงานลาวเข้ามาประกอบอาชีพรับจ้างดูแลงานบ้าน ในบ้านหลังใหญ่แห่งหนึ่งในตัวเมืองวารินชำราบ เธอเป็นชาวจำปาสัก แต่เสียดายยังไม่มีโอกาสข้ามไปงานปราสาทวัดพู เธอบอกได้แค่ต้องไปลงแพขนานยนตร์ที่ท่าโพ ห่างจากปากเซไปประมาณ 30 กิโลเมตร ส่วนตัวเธออยู่แค่หลัก 8 ก็ประมาณ 8 กิโลเมตรจากเมืองปากเซ เอาเป็นว่าข้าพเจ้าจะต้องหาผู้ช่วยในการเดินทางใหม่ซะแล้ว เธอบอกราคารถให้ข้าพเจ้าทราบว่าประมาณสิบพันกีบหรือซาวพันกีบ...มันต่างกันเยอะนะครับ... แต่รถประจำทางน่าจะหมดแล้ว คงเหลือรถตุ๊กตุ๊กเหมาราคาแพง ลำบากละข้าพเจ้า... ไม่เป็นไรน่า...ถ้าทำบุญมาดีหรือเคยสร้างสะพานมาบ้างในอดีตชาติคงได้ข้ามโขงที่ท่าโพและไปถึงวัดพู
รถช้าที่ด่านวังเต่าเพราะมีนักท่องเที่ยวฝรั่งหายไป 2 คน จริงแล้วไม่หายหรอกแต่เดินหารถไม่เจอ...
ข้าพเจ้าเห็นผู้ชายด้านซ้ายของรถหยิบกล้องมาถ่ายรูปหลายครั้ง...นักท่องเที่ยวแน่ๆ
เมื่อรถจอดสนิทที่ท่ารถปากเซ ข้าพเจ้าลงมาสอบถามราคาค่าโดยสารรถตุ๊กตุ๊กจากปากเซไปจำปาสัก ได้ราคาตั้งแต่ 800-1500 บาท ...แพงหลาย คุณน้องดาวช่วยเดินถามราคาให้สักพักก็แยกตัวขอกลับบ้าน... ข้าพเจ้าสอบถามไปเรื่อย จนในที่สุดก็ได้ราคา 600 บาทหันซ้ายหันขวาก็เจอชาวไทยที่ยืนถ่ายรูปทางด้านซ้ายของรถ จึงสอบถามว่าจำไปไหน... ไปด้วยกันไหม... คุณไก่กับบิดายังไม่รู้จุดหมายที่แน่นอน ข้าพเจ้าจึงชวนไปด้วยกันที่วัดพูจำปาสัก ภายในรถนั้นมีฝรั่งตาน้ำข้าว 2 คนสามี ภรรยา ซึ่งเขาเหมารถไปแค่ธนาคารที่มีตู้กดเงิน... นั่งคุยไปมาได้ความว่า มิเชล กับไซม่อน เป็นชาวอังกฤษ...จะไปจำปาสักเหมือนกัน สรุปทั้ง 5 คนจะไปที่เดียวกัน...! คนขับขอเพิ่มราคาเป็น 800 บาท  ถึงจะดูว่าแพงก็ยังดีกว่าที่จะต้องจ่ายคนเดียวไปก็ไป... เราแวะกินเฝอที่ตลาดดาวเรืองก่อนมุ่งหน้าไปจำปาสัก
ถนนฝุ่นแดง...ราดยางแล้วบางส่วนแต่หน้าแล้งอากาศแห้ง...จนเกิดผงฝุ่น รถบรรทุกพ่วงหนักหลายคันสวนทางมาในขณะที่รถของพวกเราคลานตามหลังรถพ่วงอีกคัน ทำให้รถไม่สามารถทำเวลาได้เร็วนัก นานเกือบชั่วโมงก็เดินทางมาถึงท่าโพ ท่าข้ามฟากแม่น้ำโขงไปสู่ฝั่งเมืองจำปาสัก แดดแรงเอาการ
พวกเราลงและต่อรถไปวัดพู ไซม่อนกับมิเชลแยกตัวลงที่เขตเมืองจำปาสัก ใกล้ๆ วังประสูติของเจ้าบุนอุ้ม บิดาของคุณไก่ คุณไก่และข้าพเจ้า เดินทางต่อไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร
เมื่อรถจอดสนิทที่ตลาดท่ารถเล็กๆ หน้าทางเข้าวัดพู ฝุ่นแดง ลม ตลบเข้าหน้า หาที่พักหรือเข้าไปชมโบราณสถานดี 4 โมงเย็นกว่าๆ แล้ว...ทำไงดี มองหน้ากัน 3 คน ก็เดินเข้าชมปราสาทดีกว่า ...กลัวแสงหมดจะถ่ายภาพไม่สวย หลังจากจ่ายค่าบัตรผ่านประตูและค่ากล้อง... ค่ากล้องถ่ายรูป...ข้าพเจ้าสงสัยในใจเล็กน้อยว่าทำไมต้องเก็บค่ากล้องด้วย... ไม่เป็นคนขี้สงสัยดีกว่า ค่าบัตร 2 หมื่นกีบ ค่ากล้อง 1 หมื่น รวมเป็น 3 หมื่น ราวๆ 120 บาท...โอ้อะไรนี่ แวบความคิด... ซ่อนกล้องในกระเป๋าดีกว่า... เราเดินกันไปเรื่อยๆ แวะถ่าย ชาวลาวและนักท่องเที่ยวมีจำนวนมาก เพราะเป็นงานใหญ่ เดินไปมาก็หากันไม่เจอ ถ่ายรูปต่อไปดีกว่า ...นานสองนาน
เสียงเพลงลูกทุ่งภาษาลาวดังคลอขณะข้าพเจ้ากำลังเดินย้อนออกมาส่วนหน้าของปราสาท มันอาจจะดูชินตาสำหรับข้าพเจ้าไปแล้ว ด้วยเหตุที่ข้าพเจ้าเข้ามาสัมผัสวิถีงานรื่นเริงแบบชาวลาว ชิงช้าสวรรค์ดู เหมือนเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการขึ้นมากที่สุดเพราะจะได้ถ่ายภาพบรรยากาศ งานเทศกาลในมุมสูง แต่จนสุดท้ายข้าพเจ้าก็อดเพราะมีชาวลาวจำนวนมากไปยืนรอคิว ข้าพเจ้าไปยืนด้อมๆ มองๆ สังเกตดูจนได้ความกระจ่างว่า หากสมมติข้าพเจ้าประสงค์จะขึ้นชิงช้าสวรรค์ก็จะได้นั่งกับท่านอื่นด้วย เพราะที่นี่เขาจัดแบบถ้ามีใครลงก็จะมีคนขึ้นนั่งที่ว่างทันทีโดยไม่ต้อง รู้จักกันมาก่อน ...แปลกดี ไม่เหมือนที่บ้านเราที่หนุ่มสาวจะสามารถขึ้นไปอี๋อ๋อ ...ออเซาะ อี๋อ๋อกัน สองต่อสองบนชิงช้า …หนักกระเป๋าสัมภาระเหลือเกิน...!
ข้าพเจ้าเดินวนไปวนมาก็เดินออกมาหน้าประตูทางเข้าเพราะเพลียขา แต่นั่นก็เป็นหนึ่งข้ออ้างที่จะออกมาพักดื่มเบยลาว ...เบียร์ลาว ตามเจตนาแฝงในการมาเยือนลาวในครั้งนี้ ข้าพเจ้าเลือกร้านหัวมุมสุดด้วยหวังใจว่าจะได้ปลดกระเป๋าที่แบกเดินเข้าชมปราสาทหลายชั่วโมงออกจากหลังที่ชุ่มเหงื่อ และคุณไก่กับบิดาจะได้เห็นเมื่อเดินออกมาหน้าปราสาท แสงอาทิตย์กำลังลับหลังภูเกล้า ดอกจำปาส่งกลิ่นระเรื่อหอมคลายเหนื่อยลงบ้าง
ข้าพเจ้าพยายามสอบถาม เรื่องที่พักจากน้องๆ ที่ร้านค้า คำตอบที่ได้รับคือ เต็มหมดแล้ว สอบถามนักท่องเที่ยวชาวลาวที่นั่งโต๊ะข้างๆ ก็ได้รับคำตอบเช่นเดียวกัน ...ไม่เป็นไรนั่งรอปรึกษาคุณไก่ก่อนดีกว่า เบียร์ลาวขวดที่ 2 เปิดมาวางที่โต๊ะ
ปราสาทโบราณวัดพูในช่วงปลายหนาวนี้แห้งฝุ่นแดง หลายครั้งที่รถนักท่องเที่ยวตลบละอองฝุ่นคลุ้งเข้ามาในร้าน นักท่องเที่ยวทยอยมากันอย่างไม่ขาดสาย บ้างมาเป็นคันรถ บ้างขี่จักรยานยนต์ บ้างเป็นหนุ่มสาว เด็ก เยาวชน ผู้เฒ่า ผู้แก่ ข้าพเจ้าไม่รู้ว่ามาจากที่ไหนกันบ้าง แต่สังเกตเห็นแววตาที่เปี่ยมไปด้วยความสุข แน่นอนว่าชาวศาสนิกชน หลากศาสนา หลากศรัทธาทั้งหลายเมื่อได้มีโอกาสเดินทางไปทำบุญหรือเดินเข้าไปศาสนสถานของตนจิตใจต่างแผ้วผ่องใส เบิกบาน จะต่างจากผู้ที่ต้องดิ้นรนวุ่นวายสับสนกับการขวนขวายหาสตางค์ทุกรูปแบบ โดนโกง เอารัดเอาเปรียบ บ้าเทคโนโลยี ฟุ้งเฟ้ออำนาจบารมีชิงเด่น โด่งดังในสังคมเมืองใหญ่ ...เพ้อเจ้อ เหม่อล่อย
คุณไก่เดินมาซื้อน้ำแก้กระหายที่ร้าน... จึงเจอกันอีกครั้ง
คณะของข้าพเจ้ายังไม่มีที่พัก และก็ไม่รู้ว่าจะพักกันที่ไหนเพราะคุณไก่เดินไปสอบถามหาที่พัก 4-5 ที่ก็ได้รับคำตอบว่า เต็มหมดแล้ว ข้าพเจ้ามิได้เป็นคนที่เจ้ากี้เจ้าการในเรื่องที่หลับที่นอนเท่าไหร่ แต่เป็นห่วงเรื่องการอาบน้ำล้างตัว ยิ่งวันนี้แบกกระเป๋าตะลุยฝุ่นแดงมาตลอดบ่าย ...เหนียวหน้าและตัวโขอยู่
แน่นอน ว่าร้านค้าจะต้องมีห้องน้ำ... ข้าพเจ้ากับคุณไก่จึงเจรจากับเจ้าของร้าน สุดท้ายก็ได้ที่พับแบบชั่วคราวที่มีหมอนมุ้ง สำหรับ 3 ท่าน ในราคา คนละ 100 บาท ...เบียร์ลาวขวดที่ 4 จึงถูกเปิดฉลองสำหรับการมีที่หลับนอนในคืนนี้ คุณไก่กับบิดาเล่าให้ฟังว่าทั้งสองเพิ่งเดินทางมาลาวเป็นครั้งแรก จึงได้ลิ้มลองรสชาติเบียร์ลาวเป็นครั้งแรก รู้สึกดี ถึงแม้จะมีความต่างจากเบียร์ไทย...บ้างบางส่วน แต่ที่เหมือนกันระหว่างเบียร์ ไทยกับเบียร์ลาวคือมีฟองเหมือนกัน...?
เฝอร้อนๆ ถูกเสิร์ฟในชามโต ได้ทั้งเบียร์ ได้ที่พัก และร้านอาหาร ครบสูตรเลยแถมอยู่ใกล้กับปราสาทวัดพูที่สุด ข้าพเจ้ากับคุณไก่นั่งแลกเปลี่ยนความเห็นกันโดยบิดาของคุณไก่แยกตัวไปอาบน้ำ และพักผ่อน
น้องผู้หญิง 3 คนที่ร้านก็เป็นกันเอง เล่ารายละเอียดงานทำบุญของวันพรุ่งนี้ให้ข้าพเจ้าฟัง โดยพวกเธอจะต้องตื่นตั้งแต่ตี 3 เพื่อนึ่งข้าวเหนียวสำหรับขาย ทั้งนี้ยังชวนข้าพเจ้าไปช่วยนึ่ง แต่คงไม่ไหวแน่เพราะแค่หุงข้าวเจ้าด้วยหม้อไฟฟ้ายังแฉะเลย...
ข้าพเจ้าเห็นแสงไฟเรืองๆ ที่บริเวณปราสาทในชั้นแรก จึงขอตัวไปเก็บบรรยากาศปราสาทในเวลากลางคืน และเฉไฉเดินชมงาน
ทุกที่สถานเมื่อมีคนก็ย่อมมีอารยธรรม และอารยธรรมสมัยใหม่ของมนุษยชาติก็คือเศษขยะ ถุงพลาสติก...
เดิน ชมงานสักพักก็หยุดนั่งบนเนินสูงดูการแสดงดนตรีร่วมสมัย มีทั้งเพลงลาว เพลงไทยสตริง มีน้องเยาวชนชาวลาว 4-5 คน มานั่งข้าง และก็ถามด้วยประโยคเดิมๆ ที่ข้าพเจ้าได้รับฟังมาจนชิน ...มาเที่ยวลาวเหรอ มาลาวสนุกไหม มีหรือที่ข้าพเจ้าจะบอกว่าไม่สนุก...! เมื่อคุยกันสักพักจึงได้ความว่า น้องๆ เหล่านี้เป็นเด็กวัดมากับพระจากปากเซ เมื่อเสร็จงานก็จะกลับปากเซ น้องๆ เหล่านี้ใจดีชวนข้าพเจ้าไปเที่ยวที่วัดและให้ติดรถไปที่ปากเซด้วย ...ข้าพเจ้าคิดแล้ว...น่าจะเป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่น่าสนใจ แต่ขอกลับไปปรึกษากับคุณไก่ก่อน ไม่นาน น้องๆ ก็ขอตัวไปพักผ่อนเพราะพรุ่งนี้ต้องตื่นแต่เช้าเดินตามพระที่บิณฑบาต นอนดีกว่า ...เดินกลับที่พักในเวลา 23.00 น. หิวซะแล้ว ทำไงดี...?  แวะซื้อไข่ปิ้งกินรองท้อง
เสียงรถวิ่งครืนๆ ฝุ่นตลบ ปลุกให้ข้าพเจ้าตื่นจากความเพลีย ทั้งที่ใจอยากจะขอเวลานอนต่ออีกสักครึ่งวันแต่ด้วยภารกิจที่จำเป็นเรียกร้องให้ต้องตื่น...คุณไก่ตื่นนานแล้วเดินป้วนเปี้ยนแถวที่น้องๆ ขายข้าวเหนียว
ประชาชนชาวลาวและนักท่องเที่ยวมากมายทยอยเดินเข้าสู่แนวริมสระสรงน้ำ ตามตำนานที่กล่าวขานกันมานานว่าเป็นสระของกษัตริย์ ก่อนที่กษัตริย์จะประกอบพิธีตามความเชื่อจะมาชำระร่างกายให้สะอาดที่สระแห่งนี้และเปลี่ยนเครื่องทรง... แต่ปัจจุบัน...เมื่อวาน ข้าพเจ้าเห็นเด็กๆ ลงเล่นน้ำกันสนุกสนาน 
หน้าประสาทวัดพูชั้นนอกประชาชนชาวลาวและนักท่องเที่ยวจำนวนมากต่างนั่งรอในบริเวณที่จัดเตรียมไว้สำหรับพิธีสงฆ์และใส่บาตรข้าวเหนียว ...ข้าพเจ้าพยายามเน้นย้ำหลายคราวว่า “ใส่บาตรข้าวเหนียว” มิใช่การ “ตักบาตรข้าวเหนียว” เพราะมีบางท่านหรือหนังสือท่องเที่ยวเมืองลาวบางฉบับใช้คำว่าตักบาตรข้าวเหนียว ข้าพเจ้าจึงขอแทรกเกร็ดทางภาษาเพิ่มดังนี้ คำว่า “ตักบาตร” นั้นเป็นการใช้ทัพพีคดข้าวใส่บาตรพระ ซึ่งเป็นขนบของชาวลุ่มน้ำแถบภาคกลาง ภาคใต้ หรือผู้บริโภคข้าวสวย ...ส่วนการจก ควัก แคะ ข้าวเหนียวด้วยมือแล้วใส่บาตรพระนั้นเป็นจารีตปฏิบัติของชาวภาคเหนือ ภาคอีสาน และชาวลาวหรือผู้บริโภคข้าวเหนียว ดังนั้นข้าพเจ้าจึงใช้คำว่า “ใส่บาตร” ตามความเหมาะสมและควรจะเป็นตามวัฒนธรรมภาษา
แดดระเรือ ระคนลมอ่อนๆ หอมกลิ่นจำปาหน้าปราสาท สดชื่นด้วยขนบอันงดงาม หนุ่ม สาวแต่งกายตามแบบพื้นเมือง ซิ่นไหมหม่อนลายงาม ผ้าเบี่ยงทอขาวบาง เข็มขัดนาค เงิน ไล้แก้มด้วยแป้งบางๆ ไม่ต่างจากมโนอดีตเมื่อตอนข้าพเจ้า 6-7 ขวบที่เคยไปทำบุญวันพระที่วัดกับคุณยาย มีชาวบ้านต่างแต่งกายที่สด สะอาด ขาวบริสุทธิ์ พุทธศาสนิกมารวมตัวกันเพื่อทำบุญจนเต็มศาลาวัด ภาพคุณยายโจงกระเบนด้วยไหมม่วงกับเสื้อลูกไม้ขาวลายดอกจอก ผ้าเบี่ยงฟอกขาว ส่วนข้าพเจ้าสวมกางเกงนักเรียนกับเสื้อเชิ้ตขาวมีลายเส้นตัดขวาง เดินถือตะกร้าหมากพู มือหนึ่งของคุณยายหิ้วปิ่นโตเหน็บดอกไม้ธูปเทียนไว้ที่หูปิ่นโต ส่วนอีกมือจูงข้าพเจ้าเดินไปวัดที่ห่างออกไปไม่ไกลจากบ้านนัก กลิ่นอายของความรู้สึกแห่งอดีตย้อนเวลาให้โลกหมุนถอยหลังกลับไปยังวันวัยที่โลกและอารยประเพณียังเจริญรุ่งอีกครั้ง
...ในวัยเด็กข้าพเจ้าเติบโตที่ จ.นครนายก ในถิ่นที่หลากด้วยวัฒนธรรมจาก ไทย ลาว จีน ทั้งชาวนาและพ่อค้าทำให้เจือด้วยศิลปะและวัฒนธรรมที่หลากหลายในบางช่วงของเทศกาล ปัจจุบันกระแสเศรษฐกิจได้เบียดบังเงาของรากเหง้าของชุมชนท้องถิ่นจนแทบไม่เหลือรอยแห่งวิถีจิตวิญญาณเดิม เช่น ประเพณีแห่นางแมว การทำขวัญข้าว หรือบั้งไฟ ขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทรายในวันสงกรานต์ ได้เหือดแห้งและจางหายไปแล้ว ...สลดใจเหลือ...หรือนครนายกเจริญแล้วกิจกรรมเก่าๆ จึงถูกแทรกและซึมด้วยพายเรือแคนนูล่องแก่งแม่น้ำนครนายก ...โถ่เอ้ย...ตรุษจีน สิงโต แป๊ะยิ้ม ซิ้มยิ้มยังแทบจะหาให้เห็นยากเลย แล้วงานบวชแต่ก่อนนาคจะเดินเท้าเปล่าหรือขี่คอเพื่อนนาคอยู่ภายใต้ร่มสัปทน เดี๋ยวนี้รถกระบะเท่านั้น นำหน้าด้วยเสียงแตรวงแผดแสบหู แล้วกลองยาว ปะ...ตึง...ปะ...ตึ้ง...โมง...กับหัวโตมันหายไปไหนวะ...! ของขึ้น ...(ผู้เขียน) ข้าพเจ้าอยากตะโกนในใจให้ดัง 200 เดซิเบลซะเหลือเกินว่า นครนายกเจริญแล้ว...ประเทศไทยเจริญแล้วโว้ย...จะมาแห่หัวโตทำไม...(เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่รู้จัก “หัวโต” ไหม...? ไปเข้ากูเกิ้ลค้นหาเอาเอง...สงสัยจะหาไม่เจอเพราะเว็ปลามกมีหลากหลายแค่พิมพ์ ห คำบางคำก็ขึ้นมาแล้ว...หัวเราะเชิงเหยียดหยามในตัวอักษร ห ที่บางครั้งหมายถึงของสูงและ...) หรือเพราะเราหลงลืมอะไรบางอย่าง ... เหมือนชื่อหนังสือรางวัลซีไรท์ ปี 2551ของคุณวัชระ สัจจะสารสินเลย
ศรัทธา ความเชื่อ ที่บรรพบุรุษสั่งสมมาเป็นเวลายาวนานทำให้ยึดถือปฏิบัติจนชินเป็นนิสัย ธรรมเนียม จารีต และเป็นประเพณี ถึงแม้ยุคสมัยความเจริญจะก้าวหน้าเพียงใดสิ่งที่ยึดเหนี่ยวใจมาแต่อดีตก็ยังไม่ละเลือนจืดจางไปจากชาวลาว ข้าพเจ้าเป็นเพียงผู้มาสังเกตการณ์เท่านั้นไม่อาจตีความหรือวิจัย วินิจ วิเคราะห์ วิพากษ์และวิจารณ์ ต่อสิ่งที่เห็นด้วยสายตาในเช้าวันมาฆะบูชาที่บริเวณโบราณสถานปราสาทวัดพู จำปาสัก ใยประเทศเราไม่รณรงค์ให้ประชาชนแต่งชุดไทยมาทำบุญ ทำไมประเทศเราต้องลืมอดีตอันสวยงามที่บรรพชนได้สั่งสมมา หรือเรากลัวกลุ่มหรือชนที่เรียกตนเองว่าอารยะต่างๆ จะมองว่าเราล้าหลังจนต้องลบเลือนหลายๆ อย่างให้จางหายและทิ้งไว้แต่รอยย่ำที่ถูกทับใหม่จากตะวันตก... ที่พร่ำมานานไม่ใช่เรื่องมากหรือหัวเก่าคร่ำจนปิดตัวเองไม่ยอมรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพียงแต่หนุ่มสาวชาวลาวที่นี่แต่งกายตามแบบวัฒนธรรมเมื่อมาทำบุญ สอบถามได้ความว่า ...เยาวชนคนหนุ่ม สาว ชาวลาวนั้นจะมีชุดสำหรับใส่ไปวัดหรืองานประเพณี ผู้ชายก็จะนุ่งกางเกงขายาวสวมเสื้อเชิ้ตแขนยาวมีผ้าเบี่ยง ซึ่งไม่ค่อยแตกต่างจากปรกติเท่าไหร่นักเพียงแค่มีผ้าเบี่ยงเพิ่มขึ้นมา ส่วนผู้หญิงก็จะนุ่งผ้าซิ่น ...นุ่งประจำอยู่แล้วแต่จะเป็นผ้าซิ่นที่มีลวดลายสวยงาม ฝีมือประณีต มีราคา... ผ้าเบี่ยง และประดับด้วยทองลาวเหลืองสว่าง สวยงามแบบมีเอกลักษณ์ และหญิงสาวชาวลาวจะมีชุดแบบนี้อย่างน้อยคนละ 1 ชุด ต่างกับผู้หญิงไทยบางคนที่ถามข้าพเจ้าว่า ชุดไทยเป็นแบบไหน ...แล้วชุดไทยเป็นแบบไหน...? ข้าพเจ้าเคยสนทนากับผู้หญิงชาวลาวตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยคุณป้า ได้ความและแนวคิดง่ายๆ ตามแบบพอเพียง “ทองลาวราคาไม่สูง ใส่แล้วงาม เราไม่ได้ซื้อคำมาใส่แสดงฐานะ แต่เราซื้อทองมาใส่เพื่อความงาม”* ...ข้าพเจ้า อึ้งในระบบแนวความคิด หากจะบอกว่าเขามีงบประมาณไม่มากจึงพูดออกมาอย่างนั้น...จริงหรือ หากความเป็นจริงสุดท้ายเมื่อข้าพเจ้านั่งทบทวนตามคำกล่าวนั้นก็เริ่มเข้าใจ... มีเงินทองมากมายมหาศาลก็กินเงินกินทองไม่ได้ต้องเอาไปแลกเป็นอาหารก่อน... “คำกินไม่ได้”...หัวเราะ...! ทำให้นึกถึงอมตะวาจา... เงินทองของมายา ข้าวปลาสิของจริง... ตามตัวษรไทยที่ปรากฏบนธนบัตรไทย ราคา ............. โดยหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร บิดาแห่งเกษตรแผนใหม่ในประเทศไทย อ้าว...ข้าพเจ้าหลงประเด็นเฉไฉออกนอกทางน้ำโขงจนไหลลงทะเลจีนใต้ไปแล้ว...!!! (ทอง หมายถึงทองผสมคำเหลืองลาว คำ หมายถึง ทองคำ 99 เปอร์เซ็นต์)
หลังจากเจ้าแขวงจำปาสักมาถึงพิธีสงฆ์ก็เริ่มขึ้น การใส่บาตรเริ่มจากท่านเจ้าแขวงจำปาสักกับภรรยาใส่บาตรแล้ว ข้าราชการ ประชาชนรวมทั้งนักท่องเที่ยวตามลำดับ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสได้สนทนากับชาวไทยท่านหนึ่งที่ขับรถพาครอบครัวเดินทางมาจากนครราชสีมา ได้ความว่า ...มาทุกปี เพราะอะไรก็ไม่รู้
พระสงฆ์ 200 รูป จากวัดต่างๆ ทยอยเดินทางกลับเมื่อเสร็จสิ้นพิธี
ข้าพเจ้าแวะชมพิพิธภัณฑ์ปราสาทวัดพูด้านหน้าทางเข้าเพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา ป้ายหน้าประตูเขียนว่า “กรุณาปดเกิบ” ความหมายง่ายๆ ว่า ...อย่าลืมถอดรองเท้าก่อนเข้าภายในอาคาร... คุณไก่ขอถ่ายภาพกับเจ้าหน้าที่... ภายในมีวัตถุโบราณจัดเก็บดูแลเป็นอย่างดีและบอกเล่าประวัติ โดยได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากทางยูเนสโก
สุดท้ายนี้ข้าพเจ้าไม่ทราบกาลแห่งอนาคตว่าการได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้นจะมีข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากันเพราะวันนั้นปราสาทวัดพูเต็มไปด้วยเศษซากของวัสดุที่เหลือใช้ ถุงพลาสติก ขวดแก้ว โฟม ยาง
เราออกมารองท้องด้วยเฝอคนละชาม คุณไก่ กับบิดาจะอยู่ต่ออีกคืนแต่จะย้ายไปในเขตตัวเมืองจำปาสัก ...ประมาณ 5 กิโลเมตร.. ข้าพเจ้าได้รถตุ๊กตุ๊กโดยสารรอบ 11 โมง วันนี้มีผู้โดยสารมากที่ตกค้าง พลาดรถรอบปรกติ คนขับบอกว่าจะรอผู้โดยสารอีกสักครึ่งชั่วโมง ข้าพเจ้าจึงสั่งเบียร์ลาว  1 กระป๋องเพื่อจิบรอ แต่คนขับบอกให้เอาไปเก็บในตู้แช่ดังเดิม...! เบื้องต้นข้าพเจ้างงมาก เพราะตั้งแต่เดินทางเข้าประเทศลาวตั้งแต่ห้วยทราย บ่อแก้ว ปากแบง หลวงพระบาง เวียงจันทน์ สะหวันนะเขด จนสุดท้ายที่นี่จำปาสัก เพิ่งจะถูกห้ามไม่ให้กินเบียร์ก่อนเดินทาง...
คุณกล้วย(ทราบชื่อภายหลัง)... คนขับรถเดินไปหยิบเบียร์ลาวมา 1 ขวดแล้วเทใส่แก้วยื่นให้ข้าพเจ้า แล้วเขาก็บอกว่าเขาเลี้ยง... อ๋อ...เป็นอย่างนี้นี่เองถึงไม่ให้สั่งเป็นกระป๋อง ...ยังไม่ทันให้ข้าพเจ้าได้เพยอปากถามว่าเพราะอะไรจึงเลี้ยงเบียร์ข้าพเจ้า เขาก็พูดออกมาง่ายๆ ว่า คนไทยเหมือนกัน... ดีแฮะ เมื่อได้เวลารถตุ๊กตุ๊กเก่าๆ ก็หมุนล้อออกตัวอย่างทุลักทุเลเพราะบรรทุกเกินถึงขั้นเกินมาก ข้าพเจ้ายกมือไหว้ลาบิดาคุณไก่ และแลกนามบัตรกับคุณไก่ เผื่อได้แลกเปลี่ยนหรือมีโอกาสเดินทางด้วยกันในอนาคต ข้าพเจ้านั่งข้างคุณกล้วย ...รับลมดี... ข้าพเจ้าได้เจอรุ่นพี่ต่างคณะครั้งเรียนมหาวิทยาลัย 3 ท่าน แลกเปลี่ยนประสบการณ์เล็กน้อย ด้วยความรู้สึกที่เป็นเบ้าหลอมเดียวกัน...มองตาก็รู้ว่าอัตลักษณ์ของเบ้านั้นสร้างคนออกมาเป็นอย่างไร และสันดรของพวกเรานั้นจะไม่ผิดเพี้ยนไปจากกันมาก ...พวกเขานอนเพิงเหมือนข้าพเจ้าเมื่อคืนก่อน ณ เรือนฝั่งตรงข้ามถนน...! ระหว่างนั่งแพขนานยนตร์คุณกล้วยยื่นเบียร์มาให้อีกกระป๋อง สนทนากันได้ความว่า... คุณกล้วยเกิดที่ร้อยเอ็ด ทำนา เดินทางไปเรื่อย สุดท้ายมาแต่งงานที่ปากเซ เลยประกอบอาชีพขับรถโดยสารตุ๊กตุ๊กระหว่าง ปากเซ-จำปาสัก
แสงสะท้อนระยับยิบออกมาจากละอองโขงและถุงพลาสติกวาวใสเหนือผิวน้ำขณะนั่งแพขนานยนต์ข้ามฝั่ง...ที่ท่าโพ ทำให้นึกถึงคำร้องของเพลงๆ หนึ่งดังขึ้นมาในใจ “แม้ความเจ็บปวด เป็นเหมือนกรวดทราย ถมทิ้งลงไปแม่โขงทั้งสายคงกลายเขินตื้น ถ้าความเจ็บช้ำ เป็นน้ำก็นองท่วมพื้น รสชาติบาดแผลขมขื่น แม่โขงช่วยกลืน ให้ไกลแสนไกล” เสียงเพลงที่ขับร้องโดยคุณรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ประพันธ์โดย ครูพยงค์ มุกดา
เมื่อคุณกล้วยส่งผู้โดยสารอื่นหมดที่สถานีขนส่งปากเซเหลือข้าพเจ้า รุ่นพี่ 3 ท่าน คุณกล้วยก็พาพวกเราไปรองท้องที่ตลาดดาวเรืองก็ที่เดิมที่ข้าพเจ้ากินเมื่อวาน ร้านเดิม... 5 หนุ่มชาวไทยสั่งเฝอร้อนๆ นั่งมองวิธีปฏิบัติของชาวลาวและชาวเวียด ที่อาศัย พึ่งพากันในตลาดแห่งนี้ เฝอหมดซะแล้ว...ด้วยธรรมเนียมปฏิบัติและศักดิ์ศรีบารมีของความเป็นรุ่นน้องของข้าพเจ้า...มื้อนี้รุ่นพี่จ่าย...สบายไป คุณกล้วยขับรถพาเราชมเมืองปากเซ นานสองนาน จนได้เวลารถระหว่างประเทศปากเซ-อุบลฯ ปล่อยรถ ข้าพเจ้าชำระค่ารถและค่าเสียเวลาอีกเล็กน้อยเป็นน้ำใจในมิตรไมตรีให้คุณกล้วย แต่คุณกล้วยไม่สามารถนำเงินนั้นไปกินได้ เพราะต้องไปแลกเป็นอาหารก่อน...เงินทองของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง...หัวเราะ
“อัสดงรื่นสายลมพัดล่อง ทุ่งสีทองเอนพลิ้วลิ่วดั่งคลื่นหนุน ตะวันลับเลือนลงหลืบฟ้า สกุณร่อนลาคืนรังอุ่น แหล่งเคยขุนยามสนธยา” เพลง แดดสุดท้าย
คำร้อง-ทำนอง พืชพงศ์ พิทักษ์ ร้องโดย อ.คฑาวุธ ทองไทย ข้าพเจ้านึกเพลงนี้ตั้งแต่นั่งรถข้ามแดนด่านวังเต่าเข้าสู่แผนดินไทยที่ช่องเม็ก
ข้าพเจ้ากับรุ่นพี่จากเบ้าหลอมพิมพ์และเฟรมเดียวกัน ล่ำลา แยกย้ายจากกัน ที่สถานีขนส่งอุบลราชธานีด้วยบริบทสั้นๆ ว่า “ถ้ามีโอกาส วันที่ 15 กันยายน ...เจอกัน”
ขอขอบคุณทุกท่านที่อ้างอิงถึง  
 
 
จำปาสัก

    แขวงจำปาสัก ในอดีตมีนามว่า นครกาละจำบากนาคะบูริสี เป็นหนึ่งในจำนวนศูนย์กลางการรวบรวมศิลปวัฒนธรรม การเมืองและ เศรษฐกิจของลาวตอนใต้ เป็นแคว้นเก่าในสมัยอาณาจักรขอมรุ่งเรือง และเป็นดินแดนของอาณาจักรล้านช้างที่เต็มไปด้วยศิลปวัฒนธรรม ที่เก่าแก่ แขวงจำปาสักมีเนื้อที่ 15,415 ตารางกิโลเมตร มีพลเมือง ประมาณ 465,000 คน ประกอบด้วย 10 เมือง คือ เมืองปากเซ, เมืองชนะสมบูรณ์, เมืองบาเจียงเจริญสุข, เมืองปากซอง, เมืองปทุมพร, เมืองโพนทอง, เมืองจำปาสัก, เมืองสุขุมา, เมืองมูลละปาโมก, เมืองโขง จำปาสักมีดินแดนติดกับแขวงสาละวัน แขวงอัตตะปือ และประเทศไทย


Advertising Zone    Close
ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...