walker นักเดินทางด้วยเท้า

 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  |  
 ตะกร้าสินค้า (0)

รอบรู้เมืองลาว    เวียงจันทน์   ตำนานโขง  หลวงพระบาง  งานแข่งเรือ  วัดต่างๆ ในหลวงพระบาง  จำปาสัก    โปรแกรมเที่ยวหลวงพระบาง (Root) 2010122_47288.gif 

(Root) 2009716_43694.jpg    (Root) 2009717_45896.gif

ภาพนี้โดย tori_gai

สงกรานต์ หลวงพระบาง(Root) 2010122_47288.gif

 

ท่ามกลางกระแสแห่งการแข่งขันทางธุรกิจ การเอาตัวรอด ในยุคโลกานิยมเทคโนโลยี ความซับซ้อนในเล่ห์มายาของมนุษย์ และการแสวงหาความมักใหญ่ใฝ่อำนาจ ในศตวรรษที่ 21 นี้ หากแต่ ยังมีดินแดนที่สงบเงียบหลบซ่อนในเงาแห่งวัฒนธรรม อุดมสมบูรณ์ ไปด้วยจารีตที่งดงาม ประเพณีที่มีมนต์ขลัง ศิลปะ โบราณสถานที่ งดงามละเอียดอ่อนจรุงจิตใจให้รำลึกย้อนอดีตและน้ำใจอันใสบริสุทธิ์ เปี่ยมไปด้วยมิตรไมตรีจิต คำบรรยายข้างต้นมิได้เป็นเพียงถ้อยคำ พรรณนาที่เกินจริง หากแต่เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าได้สัมผัสมาแล้ว...
    ความลับของหลวงพระบางนั้นอยู่ที่ไหน อะไรหรือสิ่งใดที่ ชาวหลวงพระบางบอกว่าคือ “มรดกที่แท้จริงของชาวหลวงพระบาง”  และสิ่งนั้นก็จะเป็นของชาวหลวงพระบางมิใช่สิ่งที่เป็นมรดกโลก ถึงแม้ชาวหลวงพระบางจะเป็นผู้ดำรงอยู่บนโลกกลมๆ ใบนี้ก็จริงอยู่ แต่เขาเหล่านั้นมิใช่หรือที่ยังรักษาความดีงามในจารีตไว้ในแผ่นดิน ตัวเอง มิใช่เป็นของชาวโลกนอกอาณาเขต ทว่าชาวโลกจากดินแดนอื่น ได้กระทำการเพียงช่วยรักษาเพียงสิ่งที่มีอยู่แล้วให้มีสืบต่อไป ดังนั้น ชาวหลวงพระบางที่แท้จริงควรคู่กับการเป็นเจ้าของมรดกชิ้นนี้ที่เหล่า บรรพชนของพวกเขาได้รักษาไว้สืบต่อและถ่ายทอดไว้ให้ลูกหลาน มิได้มีไว้เพื่อเป็นมรดกของผู้มาอ้างสิทธิ์ชุบมือเปิบในการดูแลและรักษา ในภายหลัง ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้เป็นเพียงมุมมองหนึ่งที่ผ่านวันเวลา ในการย่ำเท้าเดินอยู่ในดินแดนอันมีนามว่า “กรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง ร่มขาวหลวงพระบาง”  
    ก่อนเข้าสู่การเดินทาง ข้าพเจ้าขออนุญาตอ้างถึงมูลเหตุแห่ง การเดินทางตามหาสิ่งที่ชาวหลวงพระบางแอบซ่อนไว้ ครั้งหนึ่งข้าพเจ้า ได้สนทนากับชาวลาวอายุ 37 ปี สหายคนนี้เป็นคน เมืองไซยะบุลี เคยทำงานที่เวียงจันทน์ก่อนย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ข้าพเจ้า สนิทสนมพอสมควรและกำลังสนทนากันถึงเรื่องพระพุทธรูปลาว ที่ประดิษฐานอยู่ในประเทศไทย สหายคนนี้ได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ตามปรกติวิสัยชาวลาวจะไม่นิยมนำพระพุทธรูปหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไป เก็บไว้ที่วัด แต่มักจะเก็บไว้ตามบ้านคน (ด้วยมูลเหตุในการสงคราม คราวอดีต วัดหรือสถานที่สำคัญมักจะถูกทำลาย และถูกปล้นฉกฉวย ของมีค่าไป) เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงถูกเยาะว่า แท้จริงแล้วพระพุทธรูป ต่างๆ ที่อัญเชิญจากประเทศลาวมาประดิษฐานในไทยนั้นไม่แน่ใจว่า เป็นองค์จริงหรือองค์จำลอง
    ครั้นต่อมาข้าพเจ้าก็มีโอกาสสนทนากับสหายอีกท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวหลวงพระบาง (สนทนากันที่บ้านสหาย...ถนนโพทิสะลาด ใกล้วัดทาดหลวง) เมื่อสนทนากันได้พักใหญ่จนดีกรีของเบียร์ลาว ออกฤทธิ์ จึงถูกถามลองภูมิขึ้นมาว่า “อะไรคือมรดกโลกที่แท้จริง ของชาวหลวงพระบาง ที่ไม่ใช่วัดเซียงทอง ไม่ใช่พระบาง ...หากแต่ สิ่งนี้เป็นความลับ” เมื่อเจอคำถามนี้ข้าพเจ้าถึงกับอึ้งตอบไม่ถูก สิ่งนั้นเป็นความลับที่ชาวหลวงพระบางพยายามไม่บอกใคร หากแต่ วันนั้นสิ้นสุดลงที่ไม่มีการเฉลยคำตอบ ทั้งที่ข้าพเจ้าอยากจะรู้อย่างยิ่ง แต่ก็เป็นผลดีอย่างมหาศาลที่สหายท่านนั้นมิได้บอกอะไรออกมา ผนวกกับคำสนทนาของสหายที่เป็นชาวไซยะบุลี ทำให้ข้าพเจ้าใคร่ ที่จะรู้ให้ได้ว่าคนหลวงพระบางเก็บงำและอะไรคือสิ่งพยายามซ่อนไว้ จึงเป็นที่มาของการเดินทางไปค้นหาตำตอบ
    ครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ข้าพเจ้าไม่ได้ตระเตรียมการอะไร ให้มากพิธีทั้งที่จองตั๋วรถล่วงหน้า และรู้กำหนดในการเดินทางล่วงหน้า  การแพ็กกระเป๋าอย่างกุลีกุจอนึกอะไรได้ก็หยิบฉวยใส่กระเป๋าทันทีเป็น ลักษณะของข้าพเจ้าซึ่งมิควรเป็นเยี่ยงอย่างนัก แต่ภายในกระเป๋าของ ข้าพเจ้าก็เพียบพร้อมไปทุกสิ่งที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องอุปโภค บริโภค (เล็กน้อย) ระหว่างการเดินทาง ยาสามัญประจำบ้าน (ชุดเล็ก) ไฟฉาย (เพราะที่หลวงพระบางไฟดับบ่อย) ฯลฯ และที่ห้ามลืมคือ Passport (ห้ามลืมเป็นอันขาด) ข้าพเจ้านัดเจอกับคุณสุวิมลที่สถานีขนส่งสาย ตะวันออกเฉียงเหนือ (หมอชิต) คุณสุวิมลเพื่อนรุ่นน้องผู้ประสงค์ อยากสัมผัสวิถีชาวหลวงพระบาง เมื่อทราบว่าข้าพเจ้ามีโครงการจะ ไปหลวงพระบางเธอก็เอ่ยปากขอติดตามไปด้วยโดยให้ข้าพเจ้าทำหน้าที่ เป็นมัคคุเทศน์ ก่อนหน้านี้คุณสุวิมลเพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศ นอรเวย์ (ปัจจุบัน 2552 เธอเป็นทหารอยู่ในตะวันออกกลาง)
    รถโดยสารปรับอากาศออกจากสถานีในเวลาประมาณ 2 ทุ่ม วิ่งด้วยความเร็วเอื่อยๆ ผ่านความมืดแห่งขุนเขายามราตรีกาลจวบจน เปิดม่านหมอกที่หนองคายในยามรุ่งอรุณ  ต่อรถสกายแล็บ (จัมโบ้) ไป “สะพานมิตรภาพไทย-ลาว” (ขัวมิตรภาพ) ทำเรื่อง ขอออกนอกประเทศอย่างรีบด่วน
    ข้าพเจ้าเหมารถแท็กซี่จากด่านตรวจคน รีบเข้า “เวียงจันทน์”  ตรงไปยังสถานี “ขนส่งสายเหนือเต้สอง” นักท่องเที่ยวน้อยคนนักจะรู้ เวลารถ V.I.P. ที่มีห้องน้ำบนรถออกจากสถานีเวลา 8.00 และ 9.00 น. ใช้เวลาการเดินทางประมาณ 9 ชั่วโมง จะถึงเมืองหลวงพระบางก็ราวๆ 6 โมงเย็น ถ้าหากพลาดรถคันนี้แล้วต้องเปลี่ยนไปขึ้นรถธรรมดา ซึ่งข้าพเจ้าเคยประสบมาแล้ว ซึ่งกว่ารถจะออกจากสถานีต้องรอให้ ผู้โดยสารเต็มคัน และมักจะมีเก้าอี้เสริมกลางระหว่างทางเดิน โดยจะแวะจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร ตลอดทางกว่าจะถึงหลวงพระบาง ก็ใช้เวลาไปประมาณ 11-12 ชั่วโมง หากผู้ใดมาเป็นหมู่คณะก็สามารถ เหมารถตู้จากด่านสะพานมิตรภาพฝั่งลาวไปหลวงพระบางก็ได้
    คนขับเท็กซี่จากด่านข้ามแดนส่วนใหญ่จะพูดภาษาไทยได้ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงไทยอีสาน แต่เป็นภาษาไทยภาคกลางจึงสนทนากัน รู้เรื่องหน่อย เขาเล่าว่าที่นี่คนลาวมักใช้โทรศัพท์ที่ผลิตมาจากประเทศจีน      ส่วนใหญ่ และเขาเองก็มีหุ้นส่วนในร้านขายโทรศัพท์มือถือแห่งหนึ่ง อยู่ที่เวียงจันทน์ สินค้าหลายอย่างส่งมาจากประเทศไทย จีน เวียดนาม ซึ่งเครื่องอุปโภค และบริโภคที่เวียงจันทน์ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ ส่งมาจากประเทศไทย ชาวลาวจะอ่านและพูดภาษาไทยได้เพราะ ชาวลาวส่วนใหญ่นิยมดูโทรทัศน์ของประเทศไทย แต่คนไทยนั้นจะอ่าน ภาษาลาวได้น้อยเพราะอักษรหลายตัวของลาวแตกต่างจากภาษาไทย อย่างสิ้นเชิง รถแล่นฉิวผ่านโรงงานเบียร์ลาว (g[p]k;) ซึ่งจะมีลักษณะ เด่นสามารถมองเห็นได้แต่ไกลคือลังเบียร์สีเหลืองวางซ้อนกันหลาย พันลังจนเหลืองอร่าม ถ้านั่งรถจากด่านข้ามแดนเข้าเวียงจันทน์โรงงาน เบียร์จะอยู่ฝั่งขวามือ
(Root) 2009730_62174.jpg ลังเบียร์ลาว

     เมื่อไปถึงสถานีขนส่งสายเหนือ (เต้2) รถ V.I.P.กำลัง เคลื่อนตัวออกอย่างช้าๆ โชเฟอร์เท็กซี่รีบกดแตรเรียกรถ V.I.P. ให้หยุดรถรับข้าพเจ้าในเวลาเฉียดฉิวเช่นนี้ข้าพเจ้าเริ่มรู้สึกมีความสุข ในน้ำใจทั้งโชเฟอร์ที่ตะโกนร้องถามหาที่ว่างสำหรับข้าพเจ้ารวมทั้งรถ V.I.P.ที่หยุดรับ ไม่ว่าด้วยน้ำใจหรือต้องการผู้โดยสารเพิ่มสิ่งนี้ คือ ไมตรีแรกที่ข้าพเจ้าได้รับสำหรับการเดินทางในทริปนี้ ข้าพเจ้าจ่ายเงิน ค่าแท็กซี่แล้วรีบขึ้นรถโดยยังไม่ได้ซื้อตั๋ว (ปี๋) ข้าพเจ้ากุลีกุจอสาวเท้า ขึ้นรถโดยมีพนักงาน จากรถ V.I.P. มาช่วยขนกระเป๋าจากรถแท็กซี่ โชคดีที่รถมีที่ว่าง 2 ที่แต่ไม่ติดกัน ชาวลาวที่นั่งอยู่ก็สลับเปลี่ยนกัน จนได้นั่งกับคุณสุวิมล ข้าพเจ้าฉุกคิด “เหอะ… อย่างนี้ก็มีด้วย...!”
    ข้าพเจ้ากับสุวิมลมีเสบียงไม่มากเท่าไรนอกจากน้ำเปล่า 1 ขวด กับขนมปัง 1 ชิ้นเล็กๆ ที่เหลือมาจากรถโดยสารปรับอากาศที่ขึ้น จากหมอชิต
    หลายชั่วโมงต่อมารถก็จอดพัก 30 นาทีเพื่อรับประทานอาหาร ที่เมืองกาสีฝนลงเม็ดเล็กน้อยทำให้ผู้เดินทางต้องหลบฝนในเพิงข้างร้าน ข้าพเจ้ายืนหลบฝนรอคุณสุวิมลทำธุระ สายฝนกำลังทวีความรุนแรง มากขึ้น มีหญิงวัยกลางคนหันมายิ้มกับข้าพเจ้า และทักทายเชิงเป็นห่วง ในการเดินทาง ภายหลังจึงทราบชื่อ “พี่แอ” เป็นเจ้าของรถ V.I.P. คันที่ ข้าพเจ้านั่งมา ประกอบกับพี่แอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศนอรเวย์จึง สนทนากับคุณสุวิมลอย่างถูกคอ สนทนากันสักพักก็ออกเดินทางต่อ เวลา 6 โมงเย็น รถ V.I.P.เดินทางมาถึงหลวงพระบางจอดสนิทนิ่ง ที่สถานีขนส่ง ข้าพเจ้าลงมาบิดเอวเพื่อบรรเทาความเมื่อยขบ พี่แอ อวยพรให้ข้าพเจ้ากับคุณสุวิมลเที่ยวหลวงพระบางอย่างมีความสุข ผมต่อรองราคากับรถคนขับรถตุ๊กตุ๊ก (สกายแล็บ) เมื่อตกลงราคากัน แล้วผมก็หันไปลาพี่แอก่อนขึ้นรถ

(Root) 2010122_47288.gif

    10 นาทีต่อมาข้าพเจ้ากับคุณสุวิมลก็เช็คอินที่เรือนพักที่จอง ล่วงหน้าไว้ล่วงหน้า 1 เดือน ด้วยเหตุที่เกรงว่าจะไม่มีที่พัก เนื่องจาก เทศกาลสงกรานต์ที่หลวงพระบางจะแออัดไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้ง ชาวไทย และต่างประเทศ บ้างก็เป็นชาวลาวต่างเมืองที่จะมาชมขบวน แห่นางสังขาร และร่วมสรงน้ำพระบาง ฉะนั้น เมืองหลวงพระบาง จึงเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวหลายเชื้อชาติ และมากขึ้นหลายเท่าจาก ปรกติการจองที่พักล่วงหน้าจึงการันตีความสะดวก ความปลอดภัย และเป็นการคลายความกังวลในเรื่องที่พัก และเรือนพักหลังนี้ ข้าพเจ้า ได้เคยมาพักเมื่อครั้งเดินทางมา กับคุณอู๋ 1เมื่อหลายเดือนก่อน
    หลังอาบน้ำขจัดคราบไคล จากการเดินทางมา 24 ชั่วโมง ก็ลงมานั่งสนทนากับคุณลุงเจ้าของ เรือนพัก
    คุณลุงเจ้าของบ้านพักบอกว่า อีก 5 วัน จะอันเชิญพระบาง มาสรงน้ำ ข้าพเจ้ามีความคิดส่วนตัวว่า การเดินทางมาหลวงพระบาง ในปัจจุบันนี้มีหลายวิธีจะมาเมื่อไหร่ ก็ได้แต่ถ้ามาหลวงพระบางแล้ว ไม่ได้สรงน้ำพระบางแล้วคือการ เดินทางมาไม่ถึงหลวงพระบาง 100 เปอร์เซ็นต์ ในเมื่อการเดินทางใน ครั้งนี้จะเสียเวลารอสรงน้ำพระบาง อีกหลายวันก็คือการเดินทางมาให้ถึง เมืองหลวงพระบางตามความคิด ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงบอกคุณลุง เจ้าของเรือนพักว่าข้าพเจ้าขอเช่า ห้องพักจนถึงวันที่พระบางลง เมื่อ สรงน้ำพระบางแล้วจ
ลับ ในการตัดสินใจครั้งนี้คุณสุวิมลก็เห็น ดีเห็นงามและเออออไปกับข้าพเจ้า และคืนนี้จะมีการประกวดนางสังขาร เป็นคืนแรกที่สนามหน้าวัดทาดหลวง ชาวหลวงพระบางเรียก “เดิ่นหลวง” (สนามหรือลานโล่ง สถานที่สาธารณะสถานคล้ายกับ สนามหลวงที่กรุงเทพฯ)
    คุณลุงเปรยให้ฟังว่า ปีหนึ่ง จะมีโอกาสได้เห็น พระบางใกล้ๆ ก็คราวสงกรานต์นี้แหละ ชาวลาว หลายคนอยากมาสรงน้ำพระบาง กันทั้งนั้นเพราะถือว่าเป็นพระคู่บ้าน คู่เมือง นอกจากนี้ คนลาวอีกไม่น้อย ที่อยากไปไหว้พระแก้วมรกตที่ กรุงเทพฯ เพราะ ชาวลาวมีความเชื่อ มีความศรัทธาพระแก้วมรกต เพราะเคยประดิษฐานอยู่ที่หลวงพระบางและเวียงจันทน์จึงอยาก นมัสการพระทั้งสององค์นี้

    คุณลุงเจ้าของเรือนพักนั่งดูรายการโทรทัศน์ผ่านทางสถานี โทรทัศน์ของประเทศไทย และบอกว่าหลังข่าวจบจะดูละครไทย ชาวลาว นั้นชมละครไทยมาก และในความคิดแวบแห่งความรู้สึกก็แล่นผ่าน มาจากรายการโทรทัศน์ คือ การกล่าวถึงชนชาติริมน้ำโขงในทางที่ ไม่ควร หาได้รู้ไหมว่าเขาก็กำลังดูรายการนั้นอยู่ข้าพเจ้าอายในความมี ไมตรีที่ได้รับจากชาวลาว แต่ถูกผู้มีอำนาจทางสื่อสารมวลชนพยายาม เอาความแตกต่างมาทำเป็นเรื่องสนุก สร้างเสียงหัวเราะ มองแต่ความ บันเทิง เพื่อยอดการขายโฆษณาหวังกำไร จนลืมในเรื่องจรรยาบรรณ ของสื่อ ข้าพเจ้าทุเรศตัวเองที่มานั่งผิดที่ และเห็นความรู้สึกของผู้ที่ ถูกเหยียดและมองว่าเป็นชนชาติ…ที่ล้าหลัง หรือด้อยกว่า ข้าพเจ้ามอง สีหน้าของคุณลุงและปลงกับตัวเองราวกับกำลังถูกตอกด้วยลิ่มแหลมลง กลางหน้าผาก ทั้งที่ข้าพเจ้าเดินทาง มาจากดินแดนที่มีวัตถุนิยมเจริญ ก้าวหน้า แต่ไร้ซึ่งจิตสำนึกใน มุนษยธรรม ...อ้าวนี่กลายเป็นเรื่อง เครียดไปแล้ว...)

(Root) 2009729_55745.jpg
    ข้าพเจ้ารับประทานเฝองัว (วัว) 2 ชามโตที่หน้าหอ พิพิธภัณฑ์ เพื่อเรียกพละกำลังที่เหนื่อยล้าไปกับ การเดินทางทั้งวัน
    ต่อจากนั้นก็เดินไปตามถนนโพทิสะลาด มุ่งหน้าสู่วัดทาดหลวง เมื่อไปถึง เสียงลาวเพลงจากเครื่องขยายดังสนุกคึกคัก มีชาวลาวและ นักท่องเที่ยวมากมาย บรรยากาศเหมือนงานวัดของบ้านเรา คือ มีชิงช้าสวรรค์ การเปิดร้านค้าเครื่อง เครื่องใช้ อาหาร การปาลูกดอก เล่นบิงโกชิงรางวัล และเวทีการประกวดนางสังขาร จะยืนดูการประกวด ด้านนอกก็ได้ หรือซื้อบัตรเข้าชมภายใน ราคาบัตร 200,000 กีบ มีเก้าอี้ 6 ที่ น้ำอัดลม 6 ขวด เบียร์ลาว 6 ขวด น้ำแข็ง 2 กิโลกรัม แก้ว 6 ใบ

 (Root) 2009729_41740.jpg การประกวดนางสังขาน (นางสงกรานต์) ในชุดชนเผ่า
    ข้าพเจ้ากับคุณสุวิมลเห็นว่าเป็นราคาที่สูงสำหรับคน 2 คน น่าจะเป็นหมู่คณะจะเหมาะสมกว่าหรือมีสมาชิกรวมแล้ว 6 คน ดังนั้น จึงต้องหาสมาชิกเพิ่มอีก 4 คน และในที่สุดคุณสุวิมลก็เดินหาสมาชิก มาเพิ่มได้เป็นแม่หญิงจากบ้านผานม1 จำนวน 4 คนพอดี ซึ่งทั้ง 4 มีความประสงค์จะเข้าชมการประกวดเหมือนกัน เราก็หารเงิน 200,000 กีบด้วย 6 ...มนุษย์ไม่ว่าเชื้อชาติใด ศาสนาอะไร หากมีความ ต้องการหรือจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน ทุกอย่างก็จะเป็นไปตาม ความประสงค์... พี่วอน พี่ขาว และหญิงสาววัยทีนอีก 2 คน คุณสุวิมล และข้าพเจ้าเข้าชมการประกวดและลุ้นผู้เข้าประกวด หากแต่วันนี้ เป็นเพียงการเดินแนะนำตัวในชุดพื้นเมือง และชุดประจำชนเผ่าดังได้ อธิบายในตอนต้นไปแล้วว่าประเทศลาวประกอบด้วยหลายชนเผ่า ฉะนั้นผู้เข้าประกวดจึงต้องแต่งกายประจำชนเผ่าของตนเอง เพื่อมิให้ลืม ต้นกำเนิดของตนเอง สำหรับผู้เข้าประกวดทั้งหมดต้องเป็นชาว หลวงพระบางแท้ๆ สำหรับการประกวดวันนี้ไม่มีการตัดสิน จึงนัดหมาย เวลา สถานที่ที่จะมาชมการประกวดและการตัดสินอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ ก่อนแยกย้ายสมาชิกโดยบังเอิญทั้ง 6 คน ก็รองท้องด้วยเฝอร้อนๆ ที่ร้านเฝอเล็กๆ เยื้องห้องการแขวงหลวงพระบาง หลังจากนั้น 4 สาวแห่งบ้านผานมจึงขึ้นรถซูบารุเล็กๆ สีชมพูหวานจ๋อยขับเลี้ยวขวา สู่ถนนจักรพัดแว่นแก้วมุ่งหน้าไปบ้านผานม


   เพลงสะบายดีปีใหม่ หลวงพระบาง

เช้ารุ่งขึ้นข้าพเจ้าขออนุญาตงดใส่บาตรเพราะเหนื่อยล้าจาก การเดินทาง สายหน่อยก็เดินไปยัง “ร้านกาแฟประชานิยม”  ร้านกาแฟแห่งนี้เป็นที่นิยมอย่างมากของชาวลาวและ นักท่องเที่ยว ซึ่งขายกาแฟโบราณตามแบบดั้งเดิม โดยใช้ฟืนในการ หุงต้ม ชาวหลวงพระบางส่วนใหญ่นิยมใช้ฟืนมากกว่าการใช้แก็ส ดังนั้น กลิ่นควันไฟที่ผสมกับความหอมของกาแฟโบโลแวน (กาแฟ ArabIca สายพันธ์ชั้นเยี่ยมที่ปลูกจากปากช่อง เทือกเขาโบโลแวน ทางตอนใต้ ของประเทศลาว ตั้งแต่สมัยอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส และปลูก สืบเนื่องต่อมาจนปัจจุบันนี้ บางครั้งชาวลาวจะเรียก กาแฟโบโลเวนหรือ กาแฟโบโลแวน) ร้านกาแฟแห่งนี้สร้างเป็นเพิงธรรมดาอยู่ตรงหัวถนน หน้าตลาดเช้าบรรจบกับถนนสุวันนะบันลัง เยื้องวัดโพนไซ ข้าพเจ้า ได้พบกับคนรู้จักจากเมืองไทยซึ่งเวลาอยู่ที่กรุงเทพฯ แทบจะตามตัวกัน ได้ยากแต่มาปะกันที่ร้านกาแฟในหลวงพระบาง นอกจากนี้ทางร้านยังมี สมุดเยี่ยม เมื่อเปิดดูจะพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่เขียนเยี่ยมหลวงพระบาง ติดกับร้านกาแฟจะมีร้านขายข้าวจี่ ข้าวจี่ในที่นี้คือขนมปังฝรั่งเศสขนาดยาวประมาณ 1 ฟุต ผ่ากลาง ใส่ผักใส่หมู หรืออย่างอื่นตามชอบ ราดด้วยน้ำซอสสูตรพิเศษ รับรอง ว่าถ้าได้ลิ้มลองแล้วจะต้องบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ารสดีกลมกล่อม 1 ชิ้น อิ่มไปได้ถึงบ่าย (ข้าวจี่ประเทศลาวมี 2 อย่างคือ 1. ข้าวจี่ที่ทำจาก ข้าวเหนียวนำมาจี่ (ปิ้ง) ไฟ เช่นเดียวกับข้าวจี่ทางภาคเหนือของไทย 2. ข้าวจี่ที่หมายถึงขนมปังฝรั่งเศส ผ่ากลางใส่ผัก ใส่เครื่อง ราดซอส เป็นอาหารประเภทฟาสท์ฟูด รับอิทธิพลเมื่อครั้งอยู่ภายใต้การปกครอง ของประเทศฝรั่งเศส) หากไม่ต้องการข้าวจี่ยังมีร้านขายเฝอร้อนๆ ใกล้ๆ ร้านกาแฟ ร้านนี้เครื่องถึง ให้ผักไม่อั้น ข้าพเจ้าการันตีว่าเฝอร้านนี้อร่อย ที่สุดแต่ต้องรีบมารับประทานก่อน 11 โมง เพราะของจะหมดหรือน้ำซุป จะไม่กลมกล่อม ข้าพเจ้าลองถาม สูตรในการต้มน้ำซุปจากเจ้าของร้าน  ได้ความว่า นอกจากร้านนี้จะใส่ เครื่องเหมือนร้านอื่นๆ คือ ต้นหอม ผักชี กำใหญ่มัดด้วยตอก กระดูกวัว และเครื่องอื่นๆ แล้ว ยังใส่รากบัว ลงไปเคี่ยวด้วยจึงทำให้ได้รสชาติ  ที่หอม เมื่อลองชิมน้ำซุปจะได้รส ที่เป็นลักษณะพิเศษ คือ รสเนื้อจะ ถูกขับออกมาจากน้ำซุปกลมกล่อม มาก ข้าพเจ้ารับรองว่าไม่ผิดหวังครับ ถ้าได้ลิ้มลองเฝอแบบหลวงพระบาง ที่ร้านนี้ อีกอย่างหนึ่งที่ข้าพเจ้าขอ บอกให้ทราบทั่วกัน คือ ข้าพเจ้า ได้รับคำแนะจากทางร้าน ว่า การกิน เฝอให้อร่อยนั้นในชามเฝอของท่านจะต้องอลังการไปด้วยผักนานาชนิด เรียกได้ว่าทางร้านมีผักอะไรวางอยู่ตรงหน้าก็เด็ดใส่ชามให้หมดทุกอย่าง และการปรุงนั้น ต้องปรุงให้รสจัด (มิได้หมายถึงปรุงให้เผ็ดแต่ปรุง ให้เข้มข้น) เวลากินตามด้วยพริกขี้หนูจิ้มกะปิตัด ...แซบหลายเด้อ สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการผงชูรสก็บอกแม่ค้าว่า “ไม่ใส่แป้งนัว” (ผงชูรส)
    หาเสบียงใส่ท้องเรียบร้อย แล้วก็เดินทางไปดูของวิถีชาวบ้าน ที่ตลาดเช้า มีคนกล่าวไว้ว่า หาก อยากรู้วิถีชีวิตของถิ่นนั้นๆ ให้ไปดูที่ ตลาดแล้วจะรู้คำตอบ  การเดินตลาด ของข้าพเจ้ามิได้หวังใจว่า จะหยิบจับ หรือซื้ออะไรมากนัก เพราะสินค้า ส่วนใหญ่จะเป็นผักสด น้ำพริก ปลา บ้างก็เป็นของป่า ขณะข้าพเจ้าเดินดู ของเดินเพลินๆ ในตลาดก็บังเอิญพบ กับทีมงานถ่ายสารคดีจากประเทศไทย ที่รู้จักกัน ทำให้มีสมาชิกเพิ่มอีก 2 คนในบางเวลา


(Root) 2009729_55660.jpg    วันนี้ กลางวันที่หลวงพระบางไม่มีอะไรเป็นพิเศษ จึงแวะชม พิพิธภัณฑ์หลวงพระบาง หรือพระราชวังเดิมของพระมหาชีวิต ต่อจากนั้นจึงเดินขึ้นยอดพระธาตุจอมพูสีเพื่อชมเมืองหลวงพระบาง จากบนพูสี ระหว่างทางเดินจะผ่านวัดป่ารวกหรือวัดป่าฮวก ปัจจุบัน เป็นวัดร้าง ปิดล็อกประตู หากจะเข้าชมภายในต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ ตรงที่เก็บเงินขึ้นพูสี ระหว่างบันใดทางขึ้นพูสีมีต้นจำปาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นต้นจำปาลาว ดอกสีส้มเหลืองงดงามและส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ บรรเทาความเหนื่อยได้บ้าง เมื่อเดิน ขึ้นมาถึงยอดจะรู้สึกเย็นสบายมอง ทิวทัศน์รอบเมืองได้ทุกด้าน ทางทิศ ตะวันตกเฉียงเหนือจากยอดพูสีจะ มองเห็นมหาราชวังและฉากหลัง เป็นแม่น้ำโขงไหลเป็นแนวยาว สามารถมองเห็นฝั่งเมืองเซียงแมน ได้อย่างชัดเจน ส่วนทางด้านทิศ ตะวันออกสามารถมองเห็นน้ำคาน สะพานเหล็ก และสันติเจดีย์ของ วัดโพนเพาที่
สุกปลั่งเป็นสีทองเหลือง อร่ามเด่นสง่า
    ยามเย็นตะวันคล้อยหลบหลังเทือกเขา ทอดเงาสะท้อนระยับ กับแม่น้ำโขงเป็นภาพที่หาได้ยากหากได้ เป็นอีกหนึ่งความประทับใจใน การมาเยือนหลวงพระบาง สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยหรือศาสนิก ที่ขึ้นไปบนยอดพูสีมิควรนำเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขึ้นไปบนยอดพูสี เพราะบนยอกพูสิมิใช่จุดชมวิวธรรมดาหากแต่เป็นศาสนสถานที่มีจุดชม ทัศนียภาพของหลวงพระบางที่สวยงาม


(Root) 2009730_62163.jpg(Root) 2009730_62150.jpg(Root) 2009730_62135.jpg  

วังเจ้ามหาชีวิต (ปัจจุบันเป็นหอพิพิธภัณฑ์)       ความงดงามของสิมวัดเซียงทอง

 ข้าพเจ้ากับคุณสุวิมลเดินลงจากพระธาตุพูสีก็เป็นเวลาที่ ตลาดมืดกำลังจะเริ่มเปิดทำการ ชาวเขาเผ่าต่างๆ และบ้านชาวลาวที่อยู่ บริเวณใกล้ๆ ต่างนำผลิตภัณฑ์หรือสินค้ามาตระเตรียมจัดร้าน บนถนน สีสะหว่างวง เดินเพลินๆ ก็มีเสียงเรียกข้าพเจ้ากับคุณสุวิมลจาก ร้านข้างทาง เมื่อหันไปทางต้นเสียงก็เห็นพี่แอเจ้าของรถ V.I.P. นั่งเป็นประธานในร้าน ข้าพเจ้าแวะเข้าไปทักทายและดื่มเบียร์ครู่ใหญ่ จนฟ้ามืด สุดท้ายพี่แอก็เอ่ยปากชวนไปร่วมวงข้าวเย็นด้วยกัน งานนี้ข้าพเจ้าจึงได้ลิ้มลองข้าวเหนียวที่ชาวหลวงพระบาง หุงกินในบ้านไม่ใช่แบบหุงขายที่ตลาด แน่นอนครับว่าความนุ่มของ ข้าวนั้นต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเพราะไม่ได้หุงผึ่งตากลม คุณลุงคนขับรถ V.I.P. ยื่นยาดองสมุนไพรให้ข้าพเจ้าลิ้มลอง เมื่อยาดองไหลผ่านลำคอ… ...วาบไปทั้งตัว เกินบรรยายครับ

(Root) 2010122_40868.jpg สำรับที่เรือนพี่แอ

    อาหารเย็นจัดมาเป็นสำรับโดยส่วนใหญ่จะเป็นเส้นขนมจีน (ข้าวปุ้น) น้ำพริก ปลาย่าง ต้มปลา น้ำปรุง ต้มผักหวาน หน่อไม้ ผักสด นานาชนิด และที่ขาดไม่ได้เลยคือข้าวเหนียว อาหารมื้อนี้รสชาติร้อนแรง แบบฉบับผสมระหว่างเวียงจันทน์กับหลวงพระบาง วิธีการลิ้มอาหาร มื้อนี้ คือ กินแบบเมี่ยง คือวางผักกาดหอมในมือตามด้วยเส้นขนมจีน ปลาย่างหรือเนื้ออย่างอื่น ใส่ผักอย่างอื่นๆไปบ้าง บ้างใส่พริกขี้หนู ราดด้วยน้ำปรุงที่มีรสเปรี้ยวหวาน ปิดท้ายด้วยใบสะระแหน่ แล้วห่อ เป็นคำ รับรองครับว่า อร่อย หากินในเมืองไทยไม่ได้แน่ๆ เพราะผักที่นี่ มีรสหวานมาก พีแอเล่าว่าสมัยเมื่อ 20 ปีมาแล้วเคยทำงานอยู่ที่ กระทรวงโฆษณา เคยไปทำสารคดีในป่าอยู่นาน และเคยเป็นล่าม ภาษาให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่สุดท้ายต้องย้ายตัวเองไปอยู่ยุโรป หลายประเทศ และลงหลักปักฐานอยู่ที่นอรเวย์ คุยกันไปไม่นานยาดอง หมดไปครึ่งขวดข้าพเจ้าเริ่มแย่เพราะดีกรีหนักเหลือเกิน และเกือบลืม นัดกับพี่ขาวจากบ้านผานมที่วัดทาดหลวงเพื่อเข้าชมการประกวด นางสังขารวันสุดท้าย จึงขอตัวร่ำลาพี่แอและสมาชิกท่านอื่นๆ  ข้าพเจ้า กับคุณสุวิมยกมือไหว้แสดงการขอบคุณตามธรรมเนียมไทยและจับมือ ตามธรรมเนียมลาวกับทุกคนก่อนไปวัดทาดหลวง
    เมื่อมาถึงวัดก็รู้สึกว่าข้าพเจ้ากับคุณสุวิมลมาช้าไปครึ่งชั่วโมง และน่าจะพลาดนัดกันแล้ว ข้าพเจ้ากับคุณสุวิมลจึงเดินเที่ยวชมงาน ภายนอกและแวะเล่นเกมบิงโก โดยมีรางวัลล่อใจชิ้นใหญ่สุด คือ พัดลมตั้งโต๊ะ เล่นอยู่นานไม่ประสบความสำเร็จมีแต่ชาวลาวได้ไป ส่วนข้าพเจ้ากับคุณสุวิมลได้ท็อฟฟี่มาหลายเม็ด และ
เนื่องจากดีกรี ของยาดองยังค้างเติ่งอยู่ในกระแสโลหิตข้าพเจ้าจึงควรหาอะไรร้อนๆ ไล่แอลกอฮอล์ออกไปบ้าง ปรึกษากับคุณสุวิมลว่าน่าจะรับเฝอร้อนๆ ที่ร้านเยื้องห้องการแขวงฯ  (ร้านที่กินเมื่อคืนวาน) ระหว่างทางข้าพเจ้า เห็นรถซูบารุสีชมพูหวานจ๋อยจอดอยู่ริมทาง เดินเข้าไปสำรวจดูและ มั่นใจว่าเป็นรถของ 4 สาวจากบ้านผานม จึงเขียนจดหมายเป็น ภาษาลาว ด้านหลังภาพถ่ายหลวงพระบางของข้าพเจ้าที่เคยถ่ายไว้ เมื่อคราวเดินทางมาครั้งก่อนและพกติดตัวมาด้วย โดยกล่าวขอโทษ ที่มาช้า และทิ้งหมายเลขโทรศัพท์มือถือในประเทศลาวที่ข้าพเจ้าใช้ โดยเหน็บไว้ที่บัดน้ำฝนหน้ารถ
    หลังจากรับเฝอร้อนๆ ขับไล่ดีกรีออกไปบ้างจึงเดินทาง กลับเรือนพัก ระหว่างทางแวะซื้อน้ำเปล่าสำหรับดื่ม ปรากฏว่าน้ำเปล่าหมด แม่ค้าจึงถามข้าพเจ้าว่ารับเบียร์ แทนได้ไหม ประกอบกับที่หน้าร้านมีหนุ่มสาววัยรุ่นชาวลาวนั่งดื่ม กันอย่างสนุกสนาน มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งท่าทางเป็นปราชญ์รุ่นใหม่แห่ง หลวงพระบางเดินมาชักชวนข้าพเจ้า (เอาอีกแล้ว…คุณสุวิมลบ่นในใจ และดูเหมือนว่าจะอ่านใจของข้าพเจ้าได้ทะลุ) ภายหลังทราบชื่อผู้นั้นว่า “คำ” กำลังเรียนปริญญาตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวที่เวียงจันทน์ เดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านที่หลวงพระบางในช่วงเทศกาลปีใหม่ลาว สนทนากันไปหลายเรื่องข้าพเจ้าจับประเด็นในสาระที่ได้คือโรงเรียน ในประเทศลาวจะปิดเทอมในฤดูฝนเพราะการเดินทางจะลำบาก และอีกนัยหนึ่งคือประเทศลาวเป็นประเทศกสิกรรม จึงหยุดเรียน เพื่อให้เด็กๆ ช่วยพ่อแม่ทำการเพาะปลูก นอกจากนี้ยังได้ความรู้เพิ่มเติม เกี่ยวกับซิ่นที่สุภาพสตรีใช้สวมใส่นั้นจะมีลวดลายและความสำคัญ แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น ซิ่นของนักเรียนหญิง ก็จะแบ่งระดับชั้นเรียน โดยสังเกตที่ชายซิ่นถ้ามีลายเส้นสีขาวเส้นเดียวจะเป็นชั้นประถมและ เส้นจะมากขึ้นเมื่อเรียนในระดับชั้นมากขึ้น และในบัตรประชาชนของ ชาวลาวนั้น ผู้หญิงจะใช้คำว่า “นาง” เมื่อแต่งงานแล้วก็จะเติมชื่อสามี ลงไปในบัตรด้วย เช่นเดียวกับฝ่ายชายที่เมื่อแต่งงานแล้วก็จะมีชื่อภรรยา ในบัตรด้วยเหมือนกัน ไม่นานข้าพเจ้าก็ขอตัวกลับหลังจากที่ดื่มของเหลว อย่างอื่นแทนน้ำเปล่า

(Root) 2010122_40913.jpgเฝอร้อนๆ (Root) 2010122_40928.jpg ขนมตาลน้ำกระทิหวานหอม(Root) 2010122_47278.jpg   เดินเลาะตลาด(กลางวัน)

เช้าวันต่อมา ที่ร้านกาแฟในตอนสายเสียงโทรศัพท์มือถือดังขึ้น เสียงคู่สนทนาเป็นภาษาลาว ครั้งแรกรับสายข้าพเจ้าก็ไม่ทราบว่า เป็นผู้ใดโทรมา และผู้ที่โทรมาก็คิดว่าข้าพเจ้าเป็นผู้บ่าวชาวลาวที่ทิ้ง เบอร์โทรไว้หน้ารถสีชมพูจึงพูดภาษาลาวเป็นชุดใหญ่อย่างข้าพเจ้า ไม่ทันตั้งตัว ด้วยมูลเหตุที่ข้าพเจ้าเขียนภาษาลาวจึงเข้าใจว่าเป็นชาวลาว สอบถามไปมาคู่สนทนาคือพี่วอน และเมื่อพี่วอนรู้ว่าเป็นข้าพเจ้า จึงชวนให้ข้าพเจ้าไปที่ถนนสีสะหว่างวง เพราะมีตลาดกลางวัน (วัน เลาะตลาด)1 โดยปรกติถนนเส้นนี้จะมีเฉพาะตลาดมือในเวลาเย็น ก่อนหน้างานวันขึ้นปีใหม่ของชาวลาวประชาชนต่างออกมาจับจ่าย ซื้อเครื่องที่ตลาดนี้เพื่อเตรียมงานปีใหม่ เมื่อข้าพเจ้าไปถึงก็พบกับ ภาพที่ไม่น่าเชื่อเพราะเมื่อ 2 วันก่อน 4 สาวนี้แต่งกายดูทันสมัย ต่างจากวันนี้ที่นุ่งซิ่นมานั่งขายผ้าริมถนน พี่ขาวบอกข้าพเจ้ากับ คุณสุวิมลให้ซื้อเสื้อเบียร์ลาวสีดำ ต้องเป็นสีดำเท่านั้นเพราะบ่าย 2 โมงวันนี้พวกเธอและสมาชิกชาวลื้ออีกหลายคนจะไปตบทาดที่ฝั่ง เซียงแมนและชวนข้าพเจ้าไปเป็นสมาชิกร่วมตบทาดด้วยโดยกลุ่มพี่วอน พี่ขาวจะใส่เสื้อเบียร์ลาวสีดำเป็นเสื้อกลุ่ม


(Root) 2009729_41755.jpg ไปตบพระทาดทรายฝั่งเชียงแมน

    ข้าพเจ้าขอไขข้อกังขาสำหรับท่านผู้อ่านว่า ก่อนอื่นข้าพเจ้า เป็นเพียงนักท่องเที่ยวชาวไทยที่พอจะอ่านภาษาลาว พูดลาวได้ ในระดับต้นแต่สำเนียงไม่ได้ ศึกษาวัฒนธรรมหลวงพระบางมาบ้าง พอสมควร ในการร่วมดื่มกับชาวลาวนั้นเป็นเพียงแค่ไมตรีพอหอมปาก หอมคอ ถ้ามีการจ่ายเงินก็จะเป็นการหารเฉลี่ยซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติ ของชาวลาวจะไม่มีการเลี้ยงหรือหน้าใหญ่จ่ายให้ ซึ่งการเข้าร่วม กิจกรรม ต่างๆ ที่ข้าพเจ้าถูกชักจูงนั้นก็เพื่อเรียนรู้ศึกษาขนบการปฏิบัติ และข้าพเจ้าเชื่อว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่ถือตัวนั้นมักจะพลาดการ เข้าร่วมในกิจกรรมของชาวหลวงพระบาง ส่งผลให้ไม่ได้สัมผัสถึงแก่นของวิถีที่ชาวหลวงพระบางเป็นอยู่ คงไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนกล้าเดินเข้าไปขอกินข้าวเหนียวในบ้านของชาวหลวงพระบาง ไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนเดินเข้าไปขอกินยาดองในไหของบ้านคนที่ไม่รู้จัก และแน่นอนว่าการรู้จักกับกลุ่มชาวลื้อจากบ้านผานมนี้ก็โดยบังเอิญที่ประสงค์เข้าชมการประกวดนางสังขารที่เหมือนกัน และต่างฝ่ายไม่ต้องการที่จะจ่ายแพงในการเข้าชม แต่ตอนนี้ข้าพเจ้ากับคุณสุวิมลกำลังจะไปตบทาดกับชาวลื้อในตอนบ่าย โอกาสดีๆ อย่างนี่ถ้าเป็นท่านจะไปหรือไม่… และประเพณีการตบทาดนั้นถ้ากลุ่มใดหรือหมู่บ้านใดสามารถสร้างได้ใหญ่ก็จะแสดงถึงความสามัคคีและความยิ่งใหญ่ของพวกเขา นับว่าเป็นการแสดงออกที่ดีที่ควร และอีกอย่างหนึ่งประเพณีนี้เป็นการได้พบปะกันของหนุ่มสาวในสมัยก่อน อย่างไรเสียบ่ายวันนี้ข้าพเจ้าก็จะไปดูชาวหลวงพระบางตบทาดอยู่แล้ว และยิ่งมีทาดที่ข้าพเจ้าได้ร่วมตบกับมือตนเองแล้วถ่ายรูปเก็บไว้จะน่าภาคภูมิใจ เอาละข้าพเจ้าไปตบทาดกับชาวลื้อแห่งบ้านผานมแน่นอน
หลังจากได้เสื้อสีดำเรียบร้อยข้าพเจ้าก็พาคุณสุวิมลไปลิ้มลองแหนมเหลือง ซึ่งมีลักษณะคล้ายขนมเบื้องญวนแต่จะใส่แหนมสดลงไปด้วย จะเป็นแหนมหมูหรือแหนมเนื้อก็ตามชอบ และที่สำคัญร้านนี้ทำแหนมเอง จึงรับรองความสดใหม่ รสชาติไม่เปรี้ยวจนเกินพอดี รับประทาน 1 จาน อิ่มนานไปหลายชั่วโมง ทั้งยังเป็นแหล่งพลังงานที่มากล้น มีทั้งแป้ง ไข่ไก่ 2 ฟอง ผักอีก 3-4 อย่าง และน้ำซอส
ราดที่มีรสเปรี้ยวของส้มมะขาม หากไม่พอใจยังมีมะนาวผ่าซีกให้อีก “สบายดีเจ้า” เสียงแม่ค้าทักทาย แม่ค้าเจ้านี้จำข้าพเจ้าได้จึงสนทนากันอย่างเป็นกันเอง เพราะคราวก่อนข้าพเจ้าเดินทางมาที่หลวงพระบางก็แบกแหนมจากร้านนี้ไปฝากเพื่อนฝูงที่กรุงเทพฯ ความหอมของแหนมในกระทะเจือกลิ่นไข่เจียวผสมน้ำข้าว (น้ำแป้งมัน แม่ค้าเรียกน้ำข้าว) ทำให้นึกถึงไข่เจียวแหนม ตัดด้วยผักหลายชนิด เช่น ต้นหอม ผักชี ถั่วงอก และผักอะไรก็ไม่ทราบอีก 2 ชนิด กลิ่นกับความอร่อยที่ลงตัวของแหนมเหลืองทำให้ข้าพเจ้าไม่ได้สนใจชนิดของผักที่ไม่รู้จักเท่าไร เพราะรสที่อร่อยมากจนทำให้ข้าพเจ้าไม่อยากกินให้หมด…เสียดาย ถ้ากินหมดความอร่อยก็หมดไป ไหนๆ แล้วก็โฆษณาให้ซะหน่อยว่าร้านนี้ตั้งอยู่ในซอยตรงข้ามทางเข้าวัดมหาทาด เป็นร้านเล็กๆ เปิดเวลาประมาณ 10 โมงเช้าถึงบ่าย 4 โมงเย็น 
    บ่าย 2 โมงกว่าข้าพเจ้ากับคุณสุวิมลนั่งเรือข้ามน้ำโขงไปยังฝั่งเมืองเซียงแมน วันนี้เมืองเซียงแมนตื่นจากหลับมานาน มองภูนางแล้วนึกถึงตำนานภูท้าวภูนาง เนื่องจากบริเวณที่มีการตบทาดเป็นหาดทรายที่ราบตื้นการจอดเรือทำได้แค่เพียงใกล้ฝั่งมากที่สุด และไม่มีท่าเทียบเรือเหมือนท่าเรือเซียงแมน จึงทำให้ผู้ที่ข้ามมาตบทาดต้องเดินลุยน้ำขึ้นฝั่งอย่างทุลักทุเล ประกอบกับเป็นโคลนทรายจึงหนืดเท้าพอควร เมื่อข้าพเจ้าเดินขึ้นมายืนบนหาดก็มีเสียงเรียกข้าพเจ้าเสียงดังโวยวายไกลๆ เมื่อหันไปทางต้นเสียงก็เห็นพี่ขาว พี่วอน และสมาชิกอีกหลายคนที่พบกันเมื่อตอนสายโบกไม้โบกมือเรียกให้ไปร่วมตบทาดกับพวกเธอ
การตบทาดเริ่มต้นด้วยการหาทำเลที่เหมาะแก่การขุดทรายได้สะดวก เมื่อหาทำเลได้แล้วทุกคนจะล้อมเป็นวงพยายามขุดและก่อให้เป็นกองทราย (เหมือนก่อกองทรายตามชายทะเล หากแต่ที่นี่เป็นโคลนทรายทำให้ยากแก่การขุด) ในการก่อกองทรายนั้นเวลาสร้างจะต้องตบให้เป็นรูปร่างทรงกรวยเหมือนไอศกรีมโคนคว่ำ ถึงแม้จะทุลักทุเลและเลอะเทอะแต่พวกเราก็สามารถสร้างกองทรายที่มีขนาดไม่น้อยหน้ากลุ่มอื่น นอกจากกองทรายแล้วยังปั้นทรายเป็นลูกกลมๆ เล็กๆ วางล้อมทาดทราย หลังจากนั้นก็จะโรยแป้งมันให้ขาวโพลนให้เหมือน “วาลุกะเจดีย์” ของนางวิสาขาที่ก่อทรายขาวเป็นพุทธบูชาตามพุทธประวั
ติ ส่วนเศษแป้งมันที่เหลือก็จะมาทาหน้ากันเป็นที่สนุกสนาน แล้วปักตุงประจำราศีเกิด จุดธูป เทียน สวดมนตร์ขอพร เป็นอันเสร็จพิธีการตบทาด หลังจากนั้นก็จะยืนล้อมทาดร้องเพลงสนุกสนาน บ้างก็นำกลองมาประโคมเป็นที่คึกครื้น บรรยากาศอบอวนไปด้วยกลิ่นธูปและสีหน้าที่เอิบอิ่มของผู้มาร่วมตบทาด นอกจากนี้บริเวณหาดทรายยังมีซุ้มขายอาหารเครื่องดื่มและซุ้มรำวงสร้างสีสันในงานบุญตบทาด หลังจากนั้นก็จะเดินขึ้นไปสรงน้ำพระที่วัดจอมเพชรและในเวลาค่ำจะมีการลอยกระทงซึ่งเป็นกระทงใบตองธรรมดามีดอกไม้ประดับสวยงามไม่ปักธูปเทียนเหมือนของไทย และการลอยกระทงในวันนี้ถือเป็นการลอยเคราะห์ที่ไม่ดีในปีที่ผ่านมาทิ้งไปกับแม่น้ำ ไม่ได้หมายถึงการขอขมาต่อพระแม่คงคาของไทย
พี่ขาวชวนข้าพเจ้ากับคุณสุวิมลไปร่วมดื่มฉลองทาดที่บ้านญาติฝั่งเซียงแมน และฝั่งเมืองเซียงแมนนี้เองที่เคยเป็นที่ตั้งทัพสมัยเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรียกทัพมาปราบฮ่อที่เมืองหลวงพระบาง โดยชาวฮ่อจะตั้งค่ายรับอยู่ที่วัดเซียงทอง และเมื่อครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยได้ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงกลับคืน และที่ข้าพเจ้ายืนนี้ก็คือเมืองเชียงแมน
ของประเทศไทยในอดีต แต่จนแล้วจนรอดดินแดนแห่งนี้ก็กลับไปเป็นของฝรั่งเศสอีกครั้ง และตกเป็นของราชอาณาจักรลาวในภายหลัง การฉลองของชาวลื้อก็ไม่มีพิธีอะไรมากนอกจากเบียร์ ส้มตำ ปลาทอด นอกจากนี้ยังมีมะปรางที่แสนเปรี้ยวเข็ดฟัน ซึ่ง 2 สาวลื้อวัยทีนปีนเก็บจากต้นใกล้บ้าน เรียกว่าอยากกินอะไรก็ร้องขอเจ้าของแล้วก็ปีนเก็บได้ตามสบาย ไม่มีการหวงของกัน ข้าพเจ้าไม่ได้แปลกใจนักกับการมีน้ำใจให้แก่กันการพึ่งพาอาศัยกัน หากแต่ในประเทศของเราก็ยังมีอยู่ในต่างจังหวัด แต่หาได้ยากยิ่งในเมืองหลวง จนเวลาใกล้ค่ำพวกเราจึงลงเรือกลับมาเมืองหลวงพระบาง ก่อนจะร่ำลากันพี่วอนก็เอ่ยปากชวนข้าพเจ้ากับคุณสุวิมลไปร่วมทำบุญปีใหม่แบบชาวลื้อที่โรงเรียนบ้านผานม โดยมีการทำบุญในตอนเช้าวันพรุ่งนี้ ออกร้านขายผ้า มีการแสดงของเยาวชน และการเดินแฟชั่นโชว์ในชุดผ้าทอของบ้านผานม ซึ่งงานนี้จะมีคณะผู้ใหญ่จากต่างประเทศเดินทางมาเยี่ยมชมงานด้วย ข้าพเจ้าคำนวณเวลาแล้วน่าจะไปได้เพราะในเวลาบ่ายจะมีขบวนแห่นางสังขารที่เมืองหลวงพระบางซึ่งตอนเช้าก็น่าจะไปเที่ยวที่บ้านผานม จึงตกปากรับคำตามคำชวนเชิญของพี่วอน
วันนี้เป็นวันที่จะมีพิธีแห่งนางสังขารเมืองหลวงพระบางจึงคับคั่งไปด้วยนักท่องเที่ยวข้าพเจ้าตื่นแต่เช้า ประมาณ 6 โมงเช้าเพื่อไปใส่บาตร นักท่องเที่ยวที่มาหลวงพระบางประมา
ณ 80-90 เปอร์เซ็นต์จะไม่พลาดกิจกรรมยามเช้านี้ ถ้าพลาดก็เปรียบได้ว่าไม่ได้สัมผัสวิถีของหลวงพระบางที่ยึดปฏิบัติมาหลายร้อยปี การใส่บาตรข้าวเหนียวของชาวหลวงพระบางนั้นจะปั้นข้าวเหนียวเป็นก้อนใส่บาตรพระภิกษุ สามเณรที่เดินมาบิณฑบาตร ซึ่งดูเหมือนว่าจะเดินเร็วมาก เนื่องจากหลวงพระบางเป็นเมืองศูนย์กลางของพุทธศาสนาแห่งหนึ่งจึงมีพระและสามเณรเป็นจำนวนมากออกมาบิณฑบาตรเป็นแถวยาวดูสวยงามตามวัฒนธรรม บรรดานักท่องเที่ยวและช่างภาพทั้งหลายอดไม่ได้ที่จะถ่ายภาพเก็บเป็นที่ระลึก ข้าพเจ้าซื้อข้าวเหนียว 1 กระติ๊บจากแม่ค้าซึ่งเป็นคนเดียวกันกับแม่ค้าแหนมเหลืองโดยจะออกมาตั้งโต๊ะขายข้าวเหนียวฝั่งตรงข้ามวัดมหาทาด ข้าวเหนียวนั้นจะใส่อยู่ในกระติ๊บอยู่แล้วพอไปถึงก็ยื่นเงิน หิ้วกระติ๊บ เดินมานั่งรอพระ ส่วนแม่ค้าที่หาบข้าวเหนียวใส่กระติ๊บมาขายนั้นราคาจะแพงกว่า พอใส่บาตรเสร็จก็นำกระตี๊บไปคืนที่ร้านเป็นอันเสร็จการใส่บาตรข้าวเหนียว ส่วนกับข้าวนั้นจะมีศาสนิกนำไปถวายที่วัด ซึ่งจะเรียกว่า การถวายจังหัน หลังจากใส่บาตรแล้วชาวลาวจะนิยมกรวดน้ำในทันทีเพราะเชื่อว่าหลังจากใส่บาตรเสร็จจิตใจจะสงบ ผ่องใส่ ปลอดโปร่ง จึงเหมาะที่จะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วและอานิสงฆ์บุญก็จะมากกว่า ชาวลาวเรียก “ใส่บาตรข้าวเหนียว” เพราะไม่ได้มีการใช้ทัพพีตักข้าวใส่บาตร ส่วนของไทยเรียก “ตักบาตร” เพราะใช้ทัพพีตักข้าวใส่บาตรพระหลังเวลากาแฟแล้วคุณสุวิมลติดใจในรสชาติแหนมเหลืองจึงชวนข้าพเจ้ามาลิ้มลองแต่น่าเสียดายที่ทางร้านยังจัดร้านไม่เรียบร้อยที่สำคัญข้าพเจ้าเห็นทางร้านกำลังผ่าฟืน ซึ่งแสดงว่ายังไม่ได้ก่อไฟ ตามที่ได้อธิบายไปแล้วว่าชาวหลวงพระบางจะนิยมหุงต้มด้วยเตาฟืน การรองท้องก่อนเดินทางไปบ้านผานมในวันนี้จึงเป็นฟ้าสทฟูด (Fast Food) แบบหลวงพระบางคือข้าวจี่ใส่กุนเซียง เหตุที่ต้องรองทองนั้นเพราะว่าการเดินทางในวันนี้ต้องเช่าจักรยานปั่นไปบ้านผานมที่มีระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งต้องขึ้นและลงเขาบนถนนฝุ่นลูกรังสีแดง
เมื่อเดินทางมาถึงก็จอดรถจักรยานล็อคล้อแล้วเข้าร่วมงาน ที่ต้องปั่นจักรยานไปนั้นเพราะที่บ้านผานมไม่มีรถตุ๊กตุ๊กเกรงว่าขากลับจะไม่สะดวก และถ้านัดคนขับรถในเมืองไปรับก็ไม่รู้กำหนดเวลาที่แน่นอน หรืออาจจะแวะจอดจักรยานถ่ายรูปทิวทัศน์ชมนกชมไม้ไปเรื่อยๆ

โรงเรียนบ้านผานมเป็นโรงเรียนเล็กๆ มีสนามหญ้าประมาณสนามบาสเก็ตบอลมีอาคารเรียน 2 หลัง กลางลานจัดต้นบายสี มีวงดนตรีพื้นบ้านบรรเลงเพลง สาธิตการทอผ้า รอบสนามมีการออกร้านขายผ้าและสินค้าพื้นเมืองอย่างอื่น
พี่วอนกวักมือเรียกข้าพเจ้ากับคุณสุวิมลไปที่ร้าน การแต่งกายของพี่วอน พี่ขาว หรือคนอื่นๆ ที่ไปตบทาดด้วยกันต่างจากเมื่อวานนี้สิ้นเชิง จากหลังมือเป็นหน้ามือคือทุกคนนุ่งซิ่นซึ่งดูสวยงามมาก พี่ขาวยื่นขนมต้ม (ข้าวต้มมัดทีมีข้าวเหนียว มีมะพร้าวขุดผสม รสหวาน หอมกลิ่นน้ำตาลมะพร้าว ห่อใบตอง) ให้ข้าพเจ้ากับคุณสุวิมลลิ้มลอง หลังจากชิมแล้วข้าพเจ้าชมว่าอร่อยและถามหาว่ามีอีกหรือเปล่า พี่ขาวบอกว่าเป็น 2 ชิ้นสุดท้ายที่เก็บไว้ให้ข้าพเจ้ากับคุณสุวิมลชิม เพราะทำมาน้อยโดยแต่บ้านจะทำมารวมกันและแจกจ่ายให่แก่ผู้ที่เข้ามาในงานวันนี้ 2 ชิ้นนี้เป็นของบ้านพี่วอน ส่วนในจานอื่นๆ ที่ยังมีอยู่นั้นเป็นของบ้านอื่น ซึ่งพี่วอนบอกว่าอร่อยไม่เท่า 2 ชิ้นที่ได้ชิมไป พูดไปพลางยิ้มชอบใจด้วยความสนิทพอประมาณ หลังจากทำพิธีบายสี ผูกข้อต่อแขนกันแล้วก็เป็นการแสดงของเยาวชนในหมู่บ้านผานม ต่อด้วยการเดินแฟชั่นโชว์ โดยเครื่องแต่งกายที่ออกแบบลวดลาย ทอและตัดเย็บโดยชาวบ้านของผานมเอง หลังจากนั้นก็เป็นการรำวงแบบชาวลาว (บ๊าดสโลบ) ข้าพเจ้าสังเกตพี่วอนกำลังเปิดหนังสือเพลงท่องเนื้อเพลงลาวอย่างเอาจริงเอาจังอยู่จึงสอบถามได้ความว่า ในช่วงบ่ายจะมีการฉลองและพี่วอนซึ่งเป็นนักร้องเสียงนกการเวกแห่งบ้านผานมจะต้องร้องเพลงในบ่ายนี้ เสียดายที่ข้าพเจ้าต้องกลับมาชมขบวนแห่งนางสังขารเลยพลาดร่วมฉลองกับชาวบ้านผานม  พี่ขาวพาเดินชมหมู่บ้านและแวะกินเฝอที่ร้านค้าเล็กๆ ในหมู่บ้าน น้ำซุปที่นี่รสเด็ดมากจะร้อนเครื่องเทศโดยเฉพาะกระเทียมเป็นพิเศษเวลากินชาวบ้านผานมจะใส่ข้าวพอง (ข้าวเหนียวตากแดดจนแห้งแล้วนำไปทอดน้ำมันจนพอง) หลังจากนั้นก็ร่ำลากันเมื่อเวลาใก
ล้เที่ยง
ข้าพเจ้ากับคุณสุวิมลนำจักรยานมาคืนที่ร้านเช่าแล้วออกไปชมขบวนแห่นางสังขาร
  ซึ่งขบวนแห่จะเริ่มจากบริเวณวงเวียนน้ำพุเดินไปตามถนนสีสะหว่างวงจนถึงวัดเซียงทอง ขบวนแห่จะประกอบไปด้วยปู่เยอ ย่าเยอ และสิงห์แก้ว นางสังขาร พระภิกษุ สามเณร ขบวนพานพุ่มดอกไม้โดยมีเด็กหญิงแต่งชุดลาว ดูน่ารัก ขบวนโขนจากโรงละคอน ขบวนกลองยาว สองฝากฝั่งถนนจะเต็มไปด้วยชาวลาวและนักท่องเที่ยวนับหมื่นคน มีการสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน เมื่อขบวนแห่ไปถึงวัดเซียงทองนางสังขารจะนำพานเศียรท้าวกบิลพรหม เข้าไปในสิมวัดเซียงทอง และจะเก็บเศียรไว้ในสิมเป็นเวลา 1 คืน ขณะเดียวกันก็จะมีพิธีการเลี้ยงอาหารปู่เยอ ย่าเยอ สิงห์แก้ว ในที่เฉพาะด้านหลังของวัด มีการสรงน้ำพระสงฆ์ผ่านรางรดน้ำ
ที่วัดเซียงทองนี้ข้าพเจ้ากับคุณสุวิมลก็พบกับเจ้าหน้าที่ถ่ายทำสารคดีจากเมืองไทยที่เคยเจอกันในตลาดเช้าเมื่อหลายวันก่อนจึงไปสนทนาแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์กันที่ร้านแค
มของ และได้รู้จักกับคุณวิไลวันเจ้าของร้านที่อาสาทำหน้าที่ไกด์โดยบังเอิญให้กับข้าพเจ้าในวันต่อๆ ไป

 (Root) 2009729_41654.jpg

อรุณเปิกฟ้าต้อนรับเทศกาลปีใหม่ ท่ามกลางความเงียบสงบ หมอกสลัวกำลังจาง ข้าพเจ้าลุกล้างหน้าสีฟัน เปลี่ยนชุดอย่างรีบเร่ง ออกจากเรือนพัก มุ่งหน้าสู่ถนน บริเวณหน้าวัดมหาทาด เช้าวันนี้ดูชาวหลวงพระบางจะคึกคักเป็นพิเศษ หนุ่มสาวชาวลาวต่างแต่งกายตามขนบในการใส่บาตร ผู้เฒ่าผู้แก่นั่งบนเสื่อบนฟุตบาทริมถนนหน้าวัด นักท่องเที่ยวชาวไทยและฝรั่งมังค่าอีกไม่น้อยต่างยืนและนั่งรอใส่บาตรพระภิกษุ สามเณร จำนวนหลายสิบรูป ทั้งนี้ไม่รวมช่างภาพมืออาชีพและมือสมัครเล่นอีกหลายสิบคน เช้านี้หลวงพระบางจึงดูมีชีวิตชีวามากเป็นพิเศษ
(Root) 2010122_47288.gifข้าพเจ้าเดินตรงไปที่ร้านขายข้าวเหนียวสำหรับใส่บาตรเจ้าประจำของข้าพเจ้า แม่ค้าเห็นหน้าก็ยิ้มทัก กล่าวเป็นภาษาลาวว่า “สบายดีเจ้า” พร้อมส่งกระติ๊บที่บรรจุข้าวเหนียวร้อนๆ ให้โดยข้าพเจ้าไม่ต้องสอบถามราคาให้วุ่นวาย วันนี้เป็นวันพิเศษข้าพเจ้าจึงขอซื้อ 2 กระติ๊บโดยใส่บาตรตอนเช้านี้ 1 กระติ๊บและอีกกระติ๊บจะนำไปตักบาตรข้าวเหนียวที่พูสี
ประเพณีตักบาตรพูสีจะทำกันในวันที่ 2 ของเทศกาลขึ้นปีใหม่ของชาวหลวงพระบาง แดดอ่อนสะท้อนหอพระบางจนอดไม่ได้ที่จะต้องเก็บภาพ นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาหลวงพระบางจะพึงท่องให้ขึ้นใจว่าจะต้องเตรียมฟิล์มถ่ายรูปมามากๆ หรือเมมโมรีการ์ดที่มีหน่วยความจุเยอะๆ เพร
าะที่หลวงพระบางเวลาเดินไปไหนก็มักจะเห็นสิ่งที่สวยงามหรือประทับใจให้ถ่ายภาพเก็บไว้เสมอ ในตอนเช้าเช่นนี้ประชาชนยังไม่มากการเดินขึ้นพูสีเป็นไปด้วยความร่มรื่น มีชาวบ้านนำบายสีทีตกแต่งด้วยดอกจำปามาขาย ดูแล้วสวยงามตามแบบวัฒนธรรม ไร้มายา ชาวลาวจะวางข้าวเหนียวก้อนเล็กๆ หรือขนมต้ม ไว้ตามริมขั้นบันได เพื่อให้ทานแก่นกหรือสัตว์ที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นๆ เมื่อถึงยอดพระธาตุพูสีก็จะปั้นข้าวเหนียวเป็นก้อนหรือขนมต้ม โยนขึ้นไปบนยอดพระธาตุ หลังจากนั้นก็จะเข้าไปไหว้พระขอพรในโบสถ์ หนุ่มสาวชาวลาวก็ถือโอกาสนี้ทำบุญร่วมกันและบ้างก็อิ่มบุญไปกับการโยนข้าวเหนียว โดยความเชื่อชาวบ้านว่าให้ตั้งจิตอธิษฐานแล้วโยนข้าวเหนียวให้เข้าไปในฐานของพระธาตุถ้าผู้ใดโยนถึงพรที่ขอนั้นก็จะสมหวัง การโยนข้าวเหนียวจึงดูเป็นที่สนุกสนานของวัยหนุ่มสาวมากกว่า แท้จริงน่าจะเป็นกุศโลบายที่ว่า นกกาจะได้มากินได้สะดวกมากกว่า หรือถ้าโยนไม่ถึงก็จะหกเลอะเทอะพื้นทำความสกปรกให้กับสถานที่ และยิ่งเป็นข้าวเหนียวเมื่อแห้งติดพื้นแล้วจะทำความสะอาดได้ยาก

(Root) 2009729_41770.jpg(Root) 2009729_41672.jpg(Root) 2009729_41631.jpg

ใส่บาตรพูสี (ชาวลาวหรือชาวน้ำโขงจะไม่เรียกตักบาตร เพราะไม่ได้ใช้ทัพพีตักข้าวเหมือนชาวลุ่มน้ำเจ้าพระยา)
วันนี้ในตอนบ่ายจะมีขบวนแห่นางสังขารกลับจากวัดเซียงทองมายังวัดมหาทาด โดยกลับเส้นทางเดิมเมื่อมาถึงวัดก็จะมีพิธีสมโภช และสรงน้ำพระสงฆ์ รางรดน้ำก็จะนำมาตั้งให้ประชาชนมาสรงน้ำพระเฉกเช่นเดียวกับที่วัดเซียงทอง พิธีสรงน้ำหรือรดน้ำพระสงฆ์นั้นจะกระทำกันทุกวัดแล้วแต่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปหรือพระสงฆ์ตามสะดวกของแต่ละวัด นอกจากนี้ ปู่เยอย่าเยอและสิงห์แก้วก็จะมาไหว้พระธาตุที่วัดมหาทาดด้วย ประชาชนชาวลาวและนักท่องเที่ยวจะมารวมตัวกันอย่างเนื่องแน่นจนเต็มลานวัด เสียงกลอง ฉาบ จะดังประโคม ทั้งการร่ายรำ ร้องขับท่วงทำนองหลวงพระบางอย่างมีความลงตัว ทุกคนจะมีแต่รอยยิ้มท่ามกลางแดดที่ร้อนระอุ แต่ทุกคนหาได้ย่นย่อท้อยังเบียดเสียดเข้าร่วมพิธีด้วยศรัทธาและความใคร่เห็นของนักท่องเที่ยว
วันนี้ยังเป็นอีกวันที่หลวงพระบางยังคึกคักตื่นจากหลับใหลด้วยจารีตที่ยึดปฏิบัติสืบทอดกันมา วันนี้ข้าพเจ้าเดินไปที่ไหนๆ ก็จะเห็นรอยยิ้มและไมตรีจากชาวหลวงพระบาง บ้างชวนดื่ม บ้างทักทาย บ้างสาดน้ำตามเทศกาล ใช่แล้วครับหากถึงวันสงกรานต์แล้วท่านผู้ใดเนื้อตัวสะอาด เสื้อผ้าแห้ง คงดูแปลกๆ ด้วยเหตุเช่นนี้ข้าพเจ้าจึงกลับเรือนพักนำกล้องดิจิทัลเก็บและออกมารื่นเริง ร่วมเล่นน้ำวันสงกรานต์กับชาวหลวงพระบางอย่างเต็มอิ่ม รวมทั้งเจ้าของเรือนพักได้เชิญให้ร่วมเล่นน้ำ กิน และดื่ม อย่างเป็นกันเอง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วข้าพเจ้าก็ไม่มีทางปฏิเสธตัวได้ตามประสาคนชอบเฮฮา ในบรรดาเหล่าผู้เล่นน้ำนั้นมีเด็กหญิงวัยเพียง 6 ปี สอบถามชื่อภายหลังว่า แสงอาลี  เป็นลูกสาวของลูกชายคุณลุงเจ้าของเรือนพัก เธอช่างสนุกตามประสาเด็กสาดน้ำผู้ที่ผ่านไปมาแล้วมักวิ่งหนีมาหลบข้างหลังข้าพเจ้าทำให้ข้าพเจ้าเปียกมากกว่าหลายๆ คนในบริเวณนั้น
ถนนทุกสายในหลวงพระบางจะเจิ่งนองไปด้วยน้ำ บ้างมีการเติมน้ำใส่ถังขึ้นรถตระเวนสาดไปทั่วเมือง หลวงพระบางเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีประชากรอาศัยอยู่ไม่มาก ผู้คนจะรู้จักมักจี่กันเป็นอย่างดี ถึงแม้จะเป็นคนต่างบ้าน (หมู่บ้าน) ก็รู้จักกันเมื่อถึงหน้าเทศกาลสิ่งเหล่านี้ก็เสมือนเป็นการอุดช่องว่างของความห่างเหมือนเชือกที่คลายเกลียวตามวันเวลาให้กระชับกลมเกลียวกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และทุกปีการกระชับเกลียวก็จะจัดขึ้นด้วยงานรื่นเริงโดยการเล่นน้ำวันสงกรานต์ ข้าพเจ้าสังเกตได้จากการเอ่ยชื่อเรียกกันก่อนที่จะสาดน้ำอย่างจริงจัง
9 โมงเช้าของวันสุดท้ายที่รอคอย ขบวนแห่วอ (แห่พระบาง) ได้อัญเชิญพระบางเจ้า พระคู่บ้านคู่เมืองคู่บารมีของชาวหลวงพระบางมาประดิษฐานที่ประรำพิธีที่วัดใหม่ เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน บางปีก็ 2 วัน 1 คืน ตามแต่ทางคณะเถระพระผู้ใหญ่ของเมืองหลวงพระบางจะกำหนด
ตอนเช้าข้าพเจ้ากับคุณสุวิมลแพ็คกระเป๋าให้เป็นที่เรียบร้อยเพราะจะเดินทางกลับในคืนนี้เวลา 1 ทุ่ม  ขณะที่เช็คเอ้าท์ คุณลุงเจ้าของเรือนพักลดราคาให้กับข้าพเจ้าเป็นพิเศษ และชวนให้มาร่วมพิธีบายสีสู่ขวัญในเวลาประมาณ 5 โมงเย็น ข้าพเจ้ากับคุณสุวิมลรับปากคุณลุงเจ้าของเรือนพักและฝากกระเป๋าไว้ที่เรือนพักก่อนเดินทางออกไปสรงน้ำพระบาง 

(Root) 2009729_41904.jpg(Root) 2009729_41880.jpg(Root) 2009729_41929.jpg(Root) 2009729_41919.jpg(Root) 2009729_42781.jpg

ขบวนแห่นางสังขาน


วันนี้คุณวิไลวันทำหน้าที่เป็นไกด์แนะนำขั้นตอนในการปฏิบัติตัวตามประเพณีการสรงน้ำพระบางแบบชาวหลวงพระบาง เวลาประมาณเที่ยงคุณวิไลวันก็เดินทางมาถึงวัดใหม่ พร้อมนำผ้าเบี่ยงมาให้ข้าพเจ้าพาดบ่า พร้อมทั้งพานใส่น้ำที่ลอยดอกไม้มาหลายชนิดที่เห็นและรู้จักคือจำปาที่แยกกลีบดอกเป็นชิ้นเล็กๆ เมื่อซื้อธูปเทียนดอกไม้ที่ทางเข้าวัดเป็นที่เรียบร้อยก็เดินด้วยอาการสุขุมอารมณ์เข้าวัดอย่างรู้สึกอิ่มในบุญ และหลายๆ อย่างที่ทำให้จิตใจสงบ เทียนที่นี่จะเป็นเทียนยาวและอ่อนเมื่อจุดสักพักจะโน้มลงเหมือนความอ่อนน้อมมีสัมมาคารวะก่อเกิดขึ้นมาทันที สวดมนตร์ขอพรแล้วเดินขึ้นบันไดสรงน้ำ โดยจะมีรางสรงน้ำทั้ง 2 ข้างเมื่อสรงน้ำแล้วก็เดินไปทางด้านหลังปะรำพิธี เพื่อเก็บน้ำมนตร์ที่สรงพระบางกลับไปบ้านหรือลูบหน้าลูบตาล้างมลทินในปีที่แล้วและเพื่อความเป็นสิริมงคล
ข้าพเจ้ากลับไปนั่งมองพระบางเจ้าที่ปะรำพิธีอีกครั้งเพราะโอกาสเช่นนี้ไม่ได้หาได้ง่ายๆ สำหรับนักท่องเที่ยวหรือชาวลาวที่จะได้เห็นพระบางใกล้ๆ เหมือนเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมาของพระบางเจ้าจะบอกบางสิ่งบางอย่างที่ลึกลับ ศรัทธา ความเชื่อ วิถีชีวิต ความสงบของพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรที่อยู่เบื้องหน้าของข้าพเจ้ากำลังร่ายมนตร์ขลังแห่งกรุงศรีสัตนาคหุล้านช้างร่มขาวหลวงพระบาง หลังจากที่ข้าพเจ้าเที่ยวตระเวนค้นหาคำตอบว่าความลับของหลวงพระบางและอะไรที่เป็นมรดกของความเป็นหลวงพระบางที่แท้จริง หลายวันที่ผ่านมาของข้าพเจ้าในหลวงพระบางสามารถตอบคำถามในใจของข้าพเจ้าได้แต่ไม่กระจ่างแท้เท่ากับการมานั่งมองพระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทรองค์นี้ และแน่แท้ที่คำตอบนั้นไม่ใช่พุทธโบราณวัตถุเบื้องหน้าของข้าพเจ้า หากแต่เป็นมนตร์เสน่ห์ของเมืองหลวงพระบางที่แท้คือมรดกที่ควรค่าแก่การยอมรับมากกว่า


บ่ายแก่ๆ ข้าพเจ้ากลับมาที่เรือนพักเพื่อร่วมในพิธีบายสีสู่ขวัญต้อนรับปีใหม่ตามคำเชิญของคุณลุงเจ้าของเรือนพัก ด้วยเหตุอะไรหลายอย่างทำให้ข้าพเจ้าถ่ายภาพได้เพียงน้อยนิด อาจเป็นเพราะข้าพเจ้าอยู่ใกล้เกินไป หรือด้วยมนตร์เสน่ห์ หรือความเคารพในพิธี หรือมือของข้าพเจ้าสั่นเกินไป
พิธีเริ่มขึ้นเมื่อผู้เฒ่าผู้แก่มากันพร้อมหน้า และคนทำขวัญก็เริ่มบทสวดเป็นภาษาลาว ทุกคนประนมมือ เส้นฝ้ายสีขาวถูกโยงมายังผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ  ไม่นานข้าพเจ้าก็เริ่มฟังบทสวดทำขวัญออก มีความหมายอวยพร โชคลาภ ความเป็นสิริมงคล ต่อจากนั้นก็เป็นการผู้ข้อต่อแขน รับพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรให้กันและกัน นอกจากนี้จะมีการเรี่ยไรเงินเพื่อมอบให้ผู้หลักผู้ใหญ่ หรือการมอบเสื้อผ้า ของใช้ หรือของขวัญให้กันและกัน ถือเป็นการจบพิธี ต่อจากนั้นก็เป็นการเลี้ยงฉลอง ข้าพเจ้ากับคุณสุวิมลขอตัวเดินทางกลับแต่ถูกคะยั้นคะยอจากคุณลุงเจ้าของเรือนพักให้อยู่ร่วมสังสรรค์พอรุ่งเช้าจึงค่อยเดินทางกลับ ทั้งนี้ข้าพเจ้าเลยถือโอกาสร่วมสังสรรค์และแลกเปลี่ยนความคิดกับลูกชายของคุณลุงซึ่งไปทำงานอยู่ห่างจากหลวงพระบาง นานๆ จะกลับมาที่เรือนหลังนี้ที
ข้าพเจ้าจึงนำสัมภาระเก็บไว้ตามเดิม ก่อนเดินออกมาชมงานสมโภชพระบาง และไม่เสียเที่ยวที่ผมอยู่ต่ออีกคืน เพราะที่ลานวัดใหม่มีการแสดงโขนเรื่องพระลักพระราม (โดยปรกติชาวลาวจะเรียกรามเกียรติ์ว่า พระลักพระราม) ตอนทศกัณฑ์ชิงตัวนางสีดา
ดนตรีประโคมกันอย่างสนุกสนาน และการร่ายรำที่มีลักษณะเฉพาะแบบหลวงพระบาง โดยเฉพาะความซุกซนของเหล่าทหารลิงลูกน้องของหนุมาน สร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมอย่างคึกคัก
ข้าพเจ้ารู้สึกอิดออดเหลือเกินที่จะต้องจากเมืองที่มีมนตร์เสน่ห์แห่งนี้ไปในตอนสายของวันรุ่งขึ้น ทำให้เช้านี้ดูเงียบเหงาอย่างบอกไม่ถูก ข้าพเจ้าเช็คเอ้าท์อีกครั้งแล

ะทราบซึ้งในไมตรีที่ได้รับเป็นอย่างยิ่งเพราะคุณลุงไม่คิดค่าที่พักในคืนที่ผ่านมา ผมยกมือไหว้ขอบคุณแบบคนไทยก่อนแสดงการจับมือแบบลาวเพื่อเป็นการร่ำลาก่อนขึ้นรถตุ๊กตุ๊กมุ่งหน้าสถานีขนส่งหลวงพระบาง โดยมีแสงอาลียืนโบกมือบ้ายบาย คล้อยหลัง ข้าพเจ้าสัญญากับตัวเองในใจว่าถ้ามีเวลาหรือวันหยุดยาวนานๆ ก็จะกลับมาหลวงพระบางและพักที่เรือนหลังนี้อีก
เมื่อถึงสถานีขนส่งผุ้โดยสารหลวงพระบางก็ได้รับการต้อนรับแบบไม่น่าเชื่ออีกครั้งเพราะรถ V.I.P. ที่ข้าพเจ้าจะเดินทางกลับนั้นเป็นรถของพี่แอและเป็นเที่ยวที่พี่แอจะเดินทางกลับเวียงจันทน์พอดี (อะไรจะบังเอิญขนาดนั้น) ทำให้การเดินทางในทริปนี้มีสีสันขึ้นอีกครั้งด้วยดีกรีเบียร์ลาวที่พี่แอนำมาต้อนรับบนรถและร่วมสนทนากันอย่างญาติสนิทมิตรสหาย สรุปว่าข้าพเจ้าได้รับอะไรมา

กมายเหลือที่จะเป็นไปได้ในการเดินทางมายังต่างบ้านต่างเมือง หากแต่ประเทศไทยกับสปป.ลาวก็

เคยมีประวัติด้วยกันมาอย่างช้านาน ข้าพเจ้าอิ่มในการเดินทางทริปนี้มาก ไม่รู้สินะว่าพรุ่งนี้เช้าที่กรุงเทพฯ ข้าพเจ้าจะต้องผจญกับอะไร แต่ที่รับรู้ได้คือมิตรไมตรีที่ใสบริสุทธิ์ไม่มีชนชั้น ไม่มีการเหยียดสี ไม่มีการไต่ถามเรื่องศาสนา ไม่มีการพูดถึงตลาดหุ้น ไม่มีการกล่าวถึงเงินในกระเป๋า ยี่ห้อและรุ่นของโทรศัพท์มือถือหรือเทคโนโลยีนาโนบ้าบออะไรที่คิดว่าจะพาชาติเข้าสู่ความศิวิไลซ์ มากกว่าความศิวิไลซ์ในมนุษยชาติ  

(Root) 2009729_41804.jpg(Root) 2009729_41837.jpg(Root) 2009729_41820.jpg

พระบางเจ้าพุทธลาวรรณ พระคูเมืองหลวงพระบาง (ใครมาหลวงพระบางแล้วไม่ได้สรงน้ำพระบางก็เท่ากับยังไม่ได้มาหลวงพระบาง)

การแสดงสมโภชน์พระบาง ฟ้องนางแก้ว และโขนพระลักพระราม ตอนทศกัณฑ์ชิงนางสีดา
คุณสุวิมลหันมาเปรยกับข้าพเจ้าว่าไม่น่าเชื่อหลวงพระบางเป็นเมืองที่มีเสน่ห์มากและหากมีโอกาสจะกลับมาเยือนอีกครั้ง
ข้าพเจ้าสำรวจตัวเองอีกครั้งว่าสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตในการเดินทางครั้งนี้ว่าคงไม่ได้ทิ้งซากหรือขยะอะไรให้กับเมืองนี้และไม่ได้นำของต้องห้ามออกมา นอกจากภาพถ่ายและความทรงจำที่งดงาม ความศิวิไลซ์ในความเป็นมนุษย์ที่ข้าพเจ้าได้รับเทียบไม่ได้กับราคาค่าเงินอัตราใดในโลกใบนี้
การเดินทางค้นหาคำตอบแห่งมรดกโลกในครั้งนี้ถึงแม้ไม่สามารถบอกได้อย่างแจ่มแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรเพราะเหตุผลที่ชาวหลวงพระบางมิอาจให้กล่าวถึงได้ นัยว่าเป็นความลับของชาวหลวงพระบาง แต่ข้าพเจ้าแน่ใจและมั่นใจว่าข้าพเจ้าได้รับคำตอบแห่งมรดกโลกแล้วแน่นอน ซึ่งไม่สามารถกล่าวบอกให้รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทางสายตา ข้าพเจ้าเชื่อเช่นนั้น

(Root) 2009729_41868.jpg พระม่านที่วัดเชียงทอง
จากมูลเหตุของการเดินทางค้นหาคำตอบว่า ความลับของหลวงพระบางนั้นอยู่ที่ไหน อะไรหรือสิ่งใดที่ชาวหลวงพระบางบอกว่าคือ “มรดกที่แท้จริงของชาวหลวงพระบาง” และสิ่งนั้นก็จะเป็นของชาวหลวงพระบางมิใช่สิ่งที่เป็นมรดกโลก ข้าพเจ้าไม่แน่ใจนักว่าได้สัมผัสสิ่งที่ชาวหลวงพระบางได้เก็บซ่อนไว้หรือไม่ และไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งนั้นคืออะไรและข้าพเจ้าก็เกือบจะลืมนึกถึงวัตถุประสงค์ในการเดินทางนั้นไปแล้ว หากแต่สิ่งที่ได้รับมาคือมิตรไมตรี อันใสบริสุทธิ์ เทียบประมาณสิ่งนี้คือมรดกอันงดงามและยิ่งใหญ่ของชาวหลวงพระบางที่อำนาจเงินหรือวัตถุมิอาจตีราคาหาค่าได้ หากแต่เยาวชนรุ่นต่อๆ ไปที่จะเจริญวัยเป็นหนุ่มสาว เป็นกำลังสำคัญในการรักษาสิ่งที่งดงามไว้ได้อีกนานเท่าไรนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดคะเนได้ เพราะภายในหลายประเทศต้องยอมจำนนกับนายทุนต่างชาติที่มุ่งหวังกอบโกยผลประโยชน์จากตรงนี้ พอบุบสลายก็จากไปเหลือไว้แต่เงาอดีตอันทุกระทม
สุดท้ายนี้สิ่งที่ชาวหลวงพระบางได้ซ่อนไว้เป็นความลับของชาวหลวงพระบางตามที่สหายชาวหลวงพระบางได้สนทนากับข้าพเจ้า หากสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริงข้าพเจ้าก็ขอให้ซุกซ่อนและเก็บไว้เป็นมรดกของชาวหลวงพระบางต่อไป อย่าให้ถูกทำลายเพราะหน่วยงานหรือกลุ่มคนที่แสวงหาผลประโยชน์หลังจากรับรู้ความจริงว่าสิ่งนั้นคืออะไร ข้าพเจ้าไม่เสียใจเลยที่ไม่สามารถรับรู้คำตอบว่าสิ่งที่ชาวหลวงพระบางซ่อนไว้คืออะไร แต่กลับภาคภูมิใจที่ไม่ได้เป็นผู้สืบค้นหาความลับนั้นมาเขียนได้ ถึงแม้ภารกิจนี้จะล้มเหลวแต่ข้าพเจ้าก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาความลับให้ชาวหลวงพระบาง และสิ่งนั้นยังคงเป็นของชาวหลวงพระบางต่อไป ดีกว่านำมาตีแผ่เผยแพร่ให้ชาวโลกศิวิไลซ์เข้าไปรุกล้ำมนตร์ขลังแห่งดินแดนล้านช้างหลวงพระบาง…

เมื่อคุณรู้ คุณจะเข้าใจ และเมื่อคุณสัมผัส คุณจะกระจ่าง

สลับความคิด  
อยากได้โปสการ์ดทำไง  นิติ311/8/2552 12:49
 
ไปมาแล้ว  นิติ020/7/2552 13:02
 
อ่านทั้งหมด ...

Advertising Zone    Close
ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...