walker นักเดินทางด้วยเท้า

 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  |  
 ตะกร้าสินค้า (0)

รอบรู้เมืองลาว    เวียงจันทน์   ตำนานโขง  หลวงพระบาง  งานแข่งเรือ  วัดต่างๆ ในหลวงพระบาง  จำปาสัก    โปรแกรมเที่ยวหลวงพระบาง (Root) 2010122_47288.gif 

(Root) 2009720_38140.gif(Root) 2010122_47288.gif

(Root) 2009716_37981.jpg 

จ้ำ บึด ...บุญซ่วงเฮือ


การเดินทางในคราวนี้  ไม่ได้เป็นการหาคำตอบตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจว่า สิ่งที่เป็นมรดกโลกของหลวงพระบางนั้นเป็นไปตามที่ข้าพเจ้าคิดหรือไม่ หากแต่อยากไปเที่ยวอีกสักครั้งเพราะยังคงหลงมนตร์เสน่ห์ของเมืองหลวงพระบางอยู่ รวมทั้งอีกหลากหลายความรู้สึกที่ทำให้ต้องมาเมืองหลวงพระบาง ทั้งน้ำใจไมตรีที่เคยได้รับในการเดินทางครั้งก่อนๆ ที่ยังคงเป็นความรู้สึกค้างคาและทราบซึ้งอยู่ในใจ ถึงแม้การเดินทางครั้งนี้อาจจะไม่สะดวกนักเพราะเป็นฤดูฝน ถนนหมายเลข 13 ถูกน้ำเซาะพังไปบ้าง ดินถล่มปิดทาง หรือไม้ล้มกีดขวาง แต่สุดท้ายบรรยากาศบนรถก็ยังเป็นไปด้วยมิตรภาพทั้งจากชาวลาวและนักท่องเที่ยวต่างชาติ
เวลา 1 ทุ่มกว่าๆ ข้าพเจ้าเดินทางมาถึงสถานีขนส่งหลวงพระบาง ต่อรถไปยังที่พักหลังเดิมที่ได้โทรไปจองเมื่อ 15 วันที่แล้ว เมื่อรถจอดหน้าที่พักข้าพเจ้ามีความรู้สึกเหมือนกับได้กลับมาหาญาติพี่น้องอีกครั้ง เพราะคราวก่อนนั้นทางเรือนพักนี้ได้บายสีให้และไม่คิดค่าห้องในคืนสุดท้าย ...สำคัญที่ตรงนี้แหละ หลังจากเช็คอินและเก็บกระเป๋าแล้วก็ออกไปเดินตลาดหาอะไรรองท้องแวะเดินดูสินค้าที่ตลาดมืด...เหมือนเดิม
ข้าพเจ้ากลับมานั่งดื่มที่ระเบียงของเรือนพัก คุณลุงกับคุณป้าเจ้าของเรือนพักก็มาชวนคุยเรื่องสารทุกข์ สุก ดิบ สักพัก ...เอาอีกแล้วครับ ไฟดับ…คุณป้าไปหาเทียนไขมาจุดให้ ผมนั่งมองเงาลางๆ ของแม่น้ำโขงที่กำลังเชี่ยวในความมืดและสอบถามเรื่องการแข่งเรือและงานบุญข้าวประดับดินที่จะมีขึ้นใน 2 วันข้างหน้า
วันที่ 2 เช้านี้ข้าพเจ้าขอพักจากความเมื่อยขบจน 8 โมงเช้าจึงออกไปจิบกาแฟที่ร้านเดิม วันนี้ดูจะมีผู้คนมากมาย ทั้งนักท่องเที่ยวไทย ชาวต่างชาติ และชาวหลวงพระบางหรือเมืองใกล้ๆ เดินทางมาหลวงพระบางเพราะอีกวันจะเป็นวันแข่งเรือ ข้าพเจ้านั่งอยู่มุมสุดของร้านพอดีมีนักท่องเที่ยวชาวไทยกลุ่มหนึ่งเดินทางมาจากลำปางมานั่งใกล้ๆ เลยมีโอกาสได้คุยกับชาวไทยและมัคคุเทศก์สาวชาวเวียงจันทน์ ซึ่งแรกข้าพเจ้าคิดว่าเป็นคนไทยเพราะสามารถพูดภาษาไทยกลางได้ชัดเจน จึงทำให้ทราบราคาเหมาเป็นหมู่คณะโดยสารมาทางรถตู้ มีโปรแกรมพักที่วังเวียง 1 คืนและหลวงพระบาง 2 คืน ในราคา 8,000-9,000 บาท พร้อมมัคคุเทศก์
เนื่องจากวันนี้เป็นวันเลาะตลาด โดยตลอดถนนเจ้าฟ้างุ้มตั้งแต่หน้าที่ทำการไปรษณีย์ วงเวียนน้ำพุ ถนนโพทิสะลาดจนถึงสนามหน้าวัดทาดหลวง ข้าพเจ้าเดินดูจนเมื่อยขาก็เห็นแต่สินค้าสมัยใหม่จากไทย จีน ส่วนสินค้าพื้นเมืองมีน้อยและก็ไม่ต่างจากสินค้าที่ตลาดมืดในยามเย็น...หรือเป็นเพียงการเปลี่ยนสถานที่และเวลาในการขาย เพราะผู้ขายยังเป็นเจ้าเดียวกัน จากคำบอกเล่าของคุณวิไลวัน...มัคคุเทศก์เจ้าเดิม ได้ความว่า อาหารและขนมที่จะทำไปวัดรวมทั้งใบตองที่จะห่อข้าวประดับดินในวันพรุ่งนี้ต้องไปซื้อที่ตลาด  หลังจากเดินเลาะตลาดอยู่หลายชั่วโมงก็ได้ไอศกรีมมากิน 1 ถ้วยเท่านั้น วันนี้ตอนบ่ายข้าพเจ้ามีเวลาว่างเลยได้ไปเที่ยวน้ำตกตาดเซ ซึ่งอยู่ห่างตัวเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 10 ก.ม. การไปน้ำตกแห่งนี้ไม่ธรรมดาเพราะต้องล่องเรือไปตามแม่น้ำคานเพื่อไปยังน้ำตก แต่เมื่อไปถึงท่าล่องเรือฝนได้เทลงมาต้องหลบอยู่ในเพิงใกล้ๆ ท่าเรือ รอฝนซา เนื่องจากเป็นช่วงเทศาลจึงมีชาวลาวและนักท่องเที่ยวมากเป็นพิเศษ ทำให้ต้องรอคิวเรือถึง 4 ลำ
เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้ล่องเรือในน้ำคาน แม่น้ำคานสีแดงโคลนจากดินภูเขาที่ถูกสายฝนเซาะไหลรวมหล่อหลอมกลายเป็นสายน้ำแห่งชีวิตของชาวหลวงพระบาง ไม่นานนักก็ถึงบริเวณน้ำตก นักท่องเที่ยวลาวไทยและเทศเป็นจำนวนมากต่างลงเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน มีช้างไว้บริการนักท่องเที่ยวที่ประสงค์ขี่ช้างลุยน้ำตก สะพานแขวนทำจากไม้พาดขวางน้ำตกไปยังอีกฝั่ง นักท่องเที่ยวต่างหามุมเก็บภาพในฉากหลังที่เป็นน้ำตก ข้าพเจ้านั่งเรือทวนน้ำกลับเมื่อเวลาผ่านไปสักครู่ใหญ่ แต่ระหว่างทางก็เห็นเศษถุงพลาสติกติดตามยอดกิ่งไม้ราวกับดอกไม้หลากสี...!!!?
ถึงแม้ว่าเป็นฤดูฝนแต่ในตัวเมืองหลวงพระบางเวลาบ่ายแก่ๆ ก็ร้อนเอาการ ข้าพเจ้าจึงแวะเข้าไปที่ตลาดดารา2 โดยตั้งใจว่าจะไปหาพี่วอน...ชาวบ้านผานมที่รู้จักกันเมื่อคราวมางานบุญสงกรานต์ แรกที่พี่วอนเห็นข้าพเจ้าก็ร้องทักอย่างเสียงดังและชวนกินขนมและพร้อมเดินแนะนำลายผ้าทอภายในร้าน ถึงแม้ราคาค่อนข้างสูงแต่ก็คุ้มค่าเพราะผีมือประณีตและลายสวยงามแบบหลวงพระบางแท้สมกับเป็นลูกหลานช่างทอผ้าประจำราชสำนักในอดีต พี่วอนแจ้งว่าได้รับรูปที่ข้าพเจ้าถ่ายตอนงานสงกรานต์และอัดส่งมาให้แล้ว พี่วอนเล่าว่าพี่ขาวก็เดินทางมาจากเวียงจันทน์แต่คลาดกันเพราะพี่ขาวไปหาเพื่อนที่ตาดกวางสี นั่งคุยกันสักพักผมก็ขอตัวกลับเรือนพักเพราะยังเพลียอยู่ ตั้งใจว่าจะงีบสักหน่อยแต่ระหว่างทางเจอสหายพอนไซ...พ่อค้าเครื่องที่เคยล่องเรือมาจากห้วยทรายด้วยกัน จึงแวะนั่งคุยกันที่ร้านเล็กๆ แห่งหนึ่งแถวหน้าห้องการแขวงหลวงพระบาง
พอนไซสั่งจิ้นงัว...ไส้กรอกลาว ...ทำจากเนื้อวัวและเครื่องในผสมเครื่องเทศอ่อนๆ เวลากินมีแจ่วพริกป่นเคียงผักสด ข้าพเจ้าไม่เคยลองมาก่อนพอกินเข้าไปก็รู้สึกว่ารสชาติจะคล้ายๆ หม่ำวัว...อาหารอีสาน เป็นที่พอทราบกันว่าคนที่เดินทางไปต่างบ้านต่างเมืองเมื่อเจอคนรู้จักก็ย่อมสรวลเสกันเป็นธรรมดาและยิ่งเป็นสหายที่มีมิตรไมตรีแล้วเรื่องราวต่างๆ ในการสนทนาย่อมพรั่งพรูออกมามากมายเป็นพิเศษ สุดท้ายข้าพเจ้าก็ไม่ได้งีบ


อาทิตย์ลับหล่นจมแม่น้ำโขงไปนานแล้ว เบียร์ลาวหมดไปหลายแก้ว...ขวด พอนไซชวนข้าพเจ้าไปดื่มสุรากลั่นที่ร้านและข้าวเย็นที่บ้านของเขาเพราะอยากแนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จักบ้านกับภรรยาและลูกของเขาแต่ข้าพเจ้าต้องขออนุญาตปลีกตัวโดยสัญญาที่ว่า หากได้มาหลวงพระบางอีกจะโทรศัพท์มาบอกก่อนล่วงหน้าและจะไปหาที่บ้านเป็นอย่างแน่นอน ที่ปฏิเสธไม่ไปกับพอนไซนั้นเพราะข้าพเจ้าตั้งใจตั้งแต่ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ว่าอยากได้ภาพสิมวัดเซียงทองในเวลาค่ำ แต่พอไปถึงทางวัดไม่ได้เปิดไฟสปอตไลท์ จึงเดินดูฝีพายที่กำลังเก็บตัวเพื่อความพร้อมสำหรับการแข่งขันที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ สักพักสามเณรรูปหนึ่งเดินมาสนทนากับข้าพเจ้าด้วยคำถามแรกว่า “มาจากประเทศไทยหรือ” และตามมาด้วย “ทราบไหมว่าวัดนี้มีสร้างมานานเท่าไร” นั่นเป็นประโยคที่ทำให้ข้าพเจ้าได้รู้เรื่องในประวัติศาสตร์เมืองหลวงพระบางอีกมากมาย เนื่องจากสามเณรรูปนี้กำลังศึกษาเกี่ยวกับพุทธประวัติในลาว และแนะนำให้ข้าพเจ้าไปดูภาพและตำราเกี่ยวกับหลวงพระบางที่ห้องสมุดหลวงพระบางและที่ห้องสมุดสงฆ์ที่วัดสีบุญเฮือน เมื่อเห็นเวลาสมควรข้าพเจ้าก็นมัสการลากลับเรือนพัก ระหว่างทางก็ได้เก็บบรรยากาศยามราตรีที่ดูจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากกระแสนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางมาสัมผัสวิถีเงียบสงบ ความงดงามในเงาอดีตแต่กลับกลายเป็นผู้ก่อเกิดเมืองหลวงพระบางให้ศิวิไลซ์ ร้านอิเทอร์เน็ต บาร์เบียร์ ร้านอาหารสไตล์ยุโรป ผับที่อยู่ไกลไปจากบริเวณพื้นที่อนุรักษ์ ลานโบว์ลิ่ง นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังได้รับคำแนะนำจากรถตุ๊กตุ๊กว่าหากต้องการหญิงบริการก็จะพาไปพร้อมทั้งบอกราคาและสถานที่เสร็จสัพ... รวมทั้งเสียงรถจักรยานยนต์ที่ปรับแต่งจนแสบหูตามค่านิยมเสื่อมจากประเทศศิวิไลซ์ คุณป้าที่เรือนพักอธิบายว่า ส่วนใหญ่ชาวหลวงพระบางเองจะยังคงรักษาขนบธรรมเนียมและประเพณีของเขาไว้อย่างดี ส่วนร้านอาหาร บาร์ อิเทอร์เนตนั้นส่วนมากจะเป็นของนายทุนต่างชาติโดยเฉพาะชาวไทย..!
วันรุ่งขึ้นข้าพเจ้าตื่นเช้าไปรอใส่บาตรตามวิถีหลวงพระบาง คราวนี้ข้าพเจ้าไปรอใส่บาตรที่หัวมุมตลาด นักท่องเที่ยวและชาวลาวจำนวนหนึ่งนั่งรอใสบาตรในบุญข้าวประดับดินโดยนอกจากข้าวเหนียวแล้ว จะมีขนมต้ม...ข้าวต้มผัดห่อใบตอง บ้างก็ใส่ถั่วเหลืองคลุกผสมไปด้วย ซึ่งข้าพเจ้าได้ลองชิมที่ร้านขายผ้าของพี่วอนเมื่อวาน ตามปรกติแล้วชาวหลวงพระบางจะนิยมใส่แต่ข้าวเหนียวแต่เนื่องจากวันนี้เป็นวันสำคัญคือบุญข้าวประดับดินจึงใส่ขนมต้มหรือขนมต่างๆ หากไม่มีเวลาทำก็ใส่ขนมหลากหลายที่บรรจุสำเร็จแล้วก็ได้ หลังจากเสร็จสิ้นการใส่บาตรที่หัวถนนแล้วข้าพเจ้าก็รีบสาวเท้ามุ่งตรงไปที่หอพิพิธภัณฑ์พระราชวังเดิม เพื่อร่วมการใส่บาตรโบราณ ซึ่งได้ยึดปฏิบัติมาเป็นเวลานานหลายร้อยปีในงานบุญข้าวประดับดิน โดยจะมีจำนวนพระสงฆ์ 200 รูปมาบิณฑบาต ข้าราชการและชาวบ้านก็จะแต่งกายตามแบบประเพณี คือ ผู้ชายสวมกางเกงขายาว...ไม่ใช่ยีนส์ เสื้อเชิ้ต มีผ้าเบี่ยง ส่วนผู้หญิงก็เสื้อแขนยาว นุ่งซิ่นมีผ้าเบี่ยง งานนี้หญิงวัยกลางคนหรือวัยผู้ใหญ่จะสวมเสื้อผ้าไหมสวยงาม ปูเสื่อกกบ้างผ้ายางบ้างนั่งรอใส่บาตรอย่างเนืองแน่นตั้งแต่บันใดพระราชวังจนถึงหน้าประตูทางเข้า ซึ่งก็ถือว่าเป็นอีกงานบุญสำคัญของชาวหลวงพระบาง เมื่อถึงเวลา 8.00น. พระก็จะสวดมนต์ ให้ศีล ให้พรแก่พุทธศาสนิกชน ต่อจากนั้นจึงเริ่มทำพิธีใส่บาตรบุญข้าวประดับดินอย่างเป็นทางการ โดยเริ่มจากเจ้าแขวงหลวงพระบางและตามลำดับชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการ ทหาร ชาวบ้าน เมื่อพระสงฆ์เดินมาได้สักระยะหนึ่งบาตรเต็ม พระก็จะหย่อนอาหารในบาตรที่เต็มแล้วนั้นตามพื้นเพื่อเป็นทานแก่ผู้ที่ยากไร้รวมทั้งสัตว์ต่างๆ ทำอย่างนี้เรื่อยไปตลอดทางจนกว่าจะหมดพุทธศาสนิกชนที่รอใส่บาตร เป็นอีกหนึ่งภาพประทับใจในขนบประเพณีวัฒนธรรมของชาวหลวงพระบาง
หลังจากเสร็จพิธีใส่บาตรข้าพเจ้าเดินผ่านวัดใหม่ ซึ่งกำลังทำพิธีบวงสรวงนางเรือ ...แม่ย่านางเรือ เสียงดังคึกคัก ฉาบกลองประโคมอย่างสนุกสนาน ฝีพายก็ดูท่าทีขมีขมันส่งเสียงโห่ร้องเอาฤกษ์ เอาชัย จึงแวะเข้าไปชมสักครู่ หลังจากดื่มกาแฟลาวที่ร้านเดิมแล้วต่อด้วยเฝอเหมือนทุกครั้ง ตั้งใจจะเดินไปห้องสมุดที่อยู่ด้านข้างตลาดม้งก่อนถึงตลาดดารา1แห่งใหม่เพื่อสืบประวัติตามที่สามเณรที่วัดเซียงทองแนะนำเมื่อคืนวาน ระหว่างทางข้าพเจ้าเดินผ่านวัดหัวเซียงและวัดมหาทาด เห็นชาวบ้านได้นำข้าวห่อด้วยใบตอง ขนม ดอกไม้ ธูป เทียนวางตามกำแพงวัด และถนน จึงแวะเข้าไปดู จึงได้รู้เพิ่มเติมว่าชาวบ้านมักจะนำอาหารมาถวายพระและเณรและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งวิญญาณเร่ร่อนต่างๆ ในวันนี้ด้วย ชาวบ้านจะเข้าไปในสิมและถวายจังหัน2 ทั้งที่เป็นวัดติดกันแต่ทั้งสองวัดคราครั่งไปด้วยพุทธศาสนิกชนจนนั่งพ้นประตูสิมออกมาด้านนอก แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาของชาวหลวงพระบาง ข้าพเจ้าเดินวนรอบสิมไปมาหลายรอบเห็นว่าแสงตอนสายๆ ที่วัดมหาทาดสวยดีจึงนั่งรอดูว่าเมื่อจบพิธีกรรมในสิมแล้วจะมีกิจกรรมอย่างอื่นต่อไปหรือไม่อย่างไร...เพราะเห็นมีชาวบ้านสิบกว่าคนนั่งจับกลุ่มนั่งบ้าง ยืนบ้างทางบันใดทางทิศเหนือของวัด ข้าพเจ้าจึงไปยืนใกล้ๆ ...เหมือนเดิมครับ... คุณลุงชาวลาวท่านหนึ่งเดินมาทักข้าพเจ้า และก็เหมือนเดิมที่จะต้องทักข้าพเจ้าว่า “สบายดี” และสอบถามว่าข้าพเจ้ามาจากมาจากกรุงเทพฯ เหรอ?  คุณลุงบอกว่าเป็นชาวแขวงไซยะบุรี ...มีพรหมแดนประเทศติดกับจังหวัดเลยและน่านของไทย คุณลุงเคยเข้ามาประเทศไทยแต่เป็นที่จังหวัดน่านเมื่อคราวมีการปฏิรูปทางการเมืองในลาว เคยเดินทางมาติดต่อกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและพาสหายจากไทยเข้าไปหลบซ่อนรวมทั้งเดินทางต่อไปยังทางตอนใต้ของจีนเมื่อปี 2519-2522 ข้าพเจ้าสนใจความในอดีตของคุณลุงท่านนี้ แต่เนื่องด้วยข้าพเจ้าไม่อาจสนทนาเรื่องทางการเมืองได้ด้วยเหตุผลหลากหลายประการ คุณลุงได้นำหลานชายมาบวชเรียนที่วัดมหาทาดนี้ เมื่อถึงวันสำคัญจึงเดินทางมาเยี่ยมและในอดีตคุณลุงเองก็มาบวชที่วัดนี้ สักครู่ใหญ่พิธีในสิมก็เสร็จ คุณลุงจึงแยกกับข้าพเจ้า ขาวบ้านต่างถือโตก ถาดจังหัน ออกมาจากสิม เดินกลับเรือน มีผู้เฒ่า ผู้แก่ หนุ่ม สาว เด็กเล็กเดินตามออกมา ก่อนหน้าภิกษุและสามเณร
ถ่ายภาพสักพักจึงไปห้องสมุดหลวงพระบาง เป็นที่น่าเสียดายที่วันนี้ห้องสมุดปิด จึงต้องย้อนไปที่ห้องสมุดสงฆ์ที่วัดสีบุญเฮืองตามที่สามเณรบอกเมื่อคืนวาน เมื่อไปถึงสอบถามกับพระทางวัดท่านก็พาไปที่ห้องเล็กๆ ซึ่งจัดเป็นห้องสมุดมีตำราและหนังสือถูกจัดเก็บเป็นระบบภายในตู้ ซึ่งดิวอี้มาเห็นก็ต้องทึ่งในวิธีการจัดเก็บ เพราะไม่ได้แยกตามหมวดหมู่ประเภทแต่เรียงตาม ยุคสมัย... ข้าพเจ้าหยิบออกมาอ่านได้เพียงเล็กน้อยเพราะบางส่วนล็อคกุญแจ และบางเล่มเก่ากรอบและชำรุดเกินที่จะเปิดอ่านได้ ประมาณ 1 ชั่วโมงที่พยายามรื้อค้นตำราทำให้ทราบเรื่องราวของประเทศลาวอีกมากมาย แต่เสียดายที่ตำราส่วนใหญ่เป็นภาษาลาวทำให้ต้องใช้เวลาอ่านนาน ข้าพเจ้าจำเป็นต้องนั่งมองดูภาพเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งดูภาพทำให้นึกถึงรายการคืนวันเสาร์ แกะกล่องหนังไทย ที่นิยมนำภาพยนตร์เก่าประมาณมากกว่า 20 ปี มานำเสนอทาง thaipbs.or.th หากนึกไม่ออกก็ช่องที่เป็นรูปนกบิน สีขาว เขาพรีเซ็นเตชั่น ว่าเป็นนกพิราบ ...โอเสรีภาพ อิสรภาพ...มีสัญลักษณ์เป็นริ้วๆ เส้นๆ ... นึกไม่ออกข้าพเจ้าก็จำใจจริงๆ ดูภาพเพลินนานจนเกือบลืมเวลาไปชมขนวนแห่นางเรือ...  

    ฟังขับทุ้มหลวงพระบาง  (Root) 2010122_47288.gif            
แดดร้อนมากเวลากลางวัน... ข้าพเจ้าเดินอ้อมไปตามถนนกิ่งกิดสะลาดต่อถนนพูสีทางด้านหลังพระธาตุพูสีติดน้ำคาน...สถานที่จัดการแข่งเรือ มีการออกร้านขายเครื่องมากมายโดยส่วนมากจะเป็นเจ้าของเรือนในบริเวณนั้น บ้างเปิดร้านขายเบียร์ บ้างขายขนม ขายเฝอ ขายข้าวเหนียวไก่ปิ้ง


(Root) 201015_64634.jpg นางเรือ(แม่ย่านาง)

ขบวนแห่เรือไปยังท่าน้ำ มีนางเรือหรือแม่ย่านางเรือเดินนำ มีกลอง ค้อง ฉาบ ประโคมอย่างสนุกสนาน คึกครื้น สร้างความตื่นตาและกำลังใจให้กับฝีพายโดยแต่ละคุ้งน้ำหรือวัดจะแห่กันตามแต่ฤกษ์ของตนเอง ขณะเดินจับจองที่ริมน้ำคานก็เงี่ยหูฟังโฆษกประกาศไปด้วย ได้ความบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่พอจับใจความได้ว่าการแข่งเรือจะเริ่มเวลาประมาณ 13.00 น. ทำให้มีเวลาพอที่จะหาอะไรรองท้อง
    ร้านเฝอมีมากมาย ร้านข้าวเหนียวเครื่องในไก่ปิ้งก็มาก ข้าพเจ้าเลือกร้านเฝอเล็กๆ ที่เจ้าของเรือนกำลังกุลีกุจอหั่นต้นหอมอยู่ในเรือน ทำให้มั่นใจได้ว่าร้านนี้เจ้าของเรือนทำเอง น้ำล้างชามคงจะดีกว่าที่แกว่งๆ ล้างริมน้ำ... ในเรื่องความสะอาดแล้ว ข้าพเจ้ามักจะใส่ใจกับกระบวนการล้างภาชนะเป็นพิเศษ อาจเป็นเพราะไม่อยากให้เกิดอาการเกี่ยวกับท้องเท่าไรนักเพราะพรุ่งนี้ต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯ
    เดินถัดมาอีก 2 หลังก็มีร้านเบียร์ที่พอจะนั่งแวะดื่มในอาคารได้ ไม่ต้องตากแดดรอการแข่งเรือ เบียร์ลาวหมดไป 1 ขวดก็มีชายสูงวัย 2 ท่านมานั่งดื่มข้างๆ โต๊ะข้าพเจ้า ดื่มไปดื่มมาท่านก็ทักเหมือนเดิมๆ “สบายดี มาเที่ยวหรือ มาจากกรุงเทพเหรอ”  ข้าพเจ้ายิ้มรับแล้วตอบความไป แล้วอีกท่านก็ถามข้าพเจ้าว่ามากี่คน ...ในใจแรกข้าพเจ้าอึกอ้กที่จะตอบว่ามาคนเดียวเพราะบางอย่างเราอาจคาดเดาอารมณ์คู่สนทนาไม่ได้ แต่ก็ตอบไปตามตรงว่ามาคนเดียว ท่านทั้ง 2 เลยชวนข้าพเจ้าไปนั่งด้วย ...จริงแล้วก็แค่หันหลังกลับเก้าอี้เท่านั้นเอง ท่านหนึ่งให้ลองชิมไค้แผ่นทอดกับซิ้นวัว ...แน่นอนครับผมเคยลองแล้ว แต่ต้องกินเพื่อไม่ให้เสียน้ำใจ...!  สักครู่ก็มีเด็กหนุ่ม4-5 คนมาสั่งเบียร์ไป 1 หีบ (ลัง) เมื่อเสียงโฆษกประการว่าใกล้เวลาการแข่งจะเริ่มข้าพเจ้าจึงขอตัว ทราบความภายหลังก่อนจากกันว่าท่านหนึ่งเดินทางมาจากอุดมไซ อีกท่านเป็นอดีตนายตำรวจใหญ่ของหลวงพระบาง บ้านอยู่ทางจะไปน้ำตกxxx ทั้งนี้ท่านยังให้นามบัตรไว้แล้วกำชับว่าถ้าข้าพเจ้ามีโอกาสมาที่หลวงพระบางอีกให้โทรหาจะพาไปเที่ยวชมธรรมชาติ แล้วยังถามข้าพเจ้าอีกว่าชอบผจญภัยอย่างนี้น่าจะลองเข้าไปนอนตั้งแค้มป์ในป่าของหลวงพระบาง ...?
    การแข่งเรือยาวของหลวงพระบางจะเป็นเรือขนาดกลาง 40-50 ฝีพาย ลำเรือจะบางเพราะต้องการความเร็ว เรือจึงไม่หนาเหมือนสมัยก่อนที่ต้องใช้แรงปะทะในการทำศึกสงคราม
    จุดเริ่มต้นคุ้งท่าน้ำวัดอำไพ จุดสิ้นสุดการแข่งขันที่ท่าน้ำวัดปากคาน ความยาวประมาณ1กิโลเมตร มีเรือเข้าแข่งขันประมาณ 20 ลำ หรือแล้วแต่จำนวนผู้สมัครแต่ไม่เกิน 24 ลำ
    ข้าพเจ้าลงไปจับจองที่ริมหาดด้านล่างริมน้ำคานซึ่งดินยังชื้นแฉะอยู่บ้าง ด้วยร่มต้นมะขามใหญ่ที่แตกกิ่งก้านกันแดดได้บ้าง ลั่นชัตเตอร์ไปสักพัก แดดแรงขึ้น กลุ่มชาย 4-5 คนที่หิ้วเบียร์ 1 ลังจากร้านค้านั้นก็ขยับหลบแดดมาใกล้ที่ข้าพเจ้าและดูเหมือนร่มเงามะขามจะไม่เพียงพอสำหรับพวกเขาข้าพเจ้าจึงขยับให้เล็กน้อย ...ด้วยการที่ข้าพเจ้าขยับให้พวกเขา ทำให้ก่อมิตรภาพขึ้น แน่นนอนว่าเขาจะดูออกว่าข้าพเจ้าเป็นคนไทย และเรียกให้ร่วมวงด้วย
    วัยรุ่นชายชาวหลวงพระบางเหล่านี้มาจากคุ้งน้ำวัดอำไพซึ่งอยู่ตรงบริเวณที่ปล่อยเรือ ซึ่งในตอนสายข้าพเจ้าก็เดินสวนทางกับขบวนแห่เรือของวัดอำไพที่หน้าวัด ชายคนหนึ่งพูดจาไพเราะบอกว่าเขาเคยบวชที่วัดนี้แล้วไปเรียนที่โรงเรียนปริยธรรมที่วัดปากคาน ...เส้นชัยการแข่งขันเรือ
    เสียงโห่ร้องเชียร์ฝีพายที่กำลังเร่งจ้วงน้ำอย่างสุดแรงจนน้ำแตกซ่านเซ็น เมื่อเรือผ่านหน้าไปเสียงเชียร์ก็บางเบา กลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงลักษณะการจ้วงของฝีพาย หรือการโยกตัวของนายท้ายเรือ ถ้าเรือบ้านไหนแพ้ก็สีหน้ากองเชียร์ก็ดูจะเคร่งเครียด ส่วนกองเชียร์ของฝ่ายชนะก็จะครึกครื้อ โห่ร้อง เป่าปากอย่างสนุกสนาน
    สำหรับเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะดูเหมือนจะมีค่าไม่มากมายเท่าไหร่เมื่อเทียบกับประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านาน สำหรับฝีพายเหล่านั้นหลายคนแทบจะไม่ได้สนใจในรางวัลล่อใจสำหรับผู้ชนะ แต่การได้ลงเรือแล้วได้แสดงฝีมือให้ชาวบ้านหรือนักท่องเที่ยวได้เห็นนั้นมีค่ามากสำหรับเขาเพราะในอดีตชายฌาญ ทหารกล้า เท่านั้นที่ได้ลงเรือทดสอบฝีมือต่อหน้าเจ้ามหาชีวิต ...ในอดีตการแข่งเรือนั้นจะใช้เราที่มีขนาดลำใหญ่ หนา และมีการกระแทก เบียดกัน ในการแข่งขัน ซึ่งเสมือนการทำศึกสงคราม การแข่งเรือจึงเป็นการซ้อมรบของทหารไปด้วย ปัจจุบันใช้แค่ความเร็วอย่างเดียว...
    กองเชียร์จากวัดอำไพดูจะหงอยเหงาลงชั่วขณะเมื่อเรือของพวกเขาเข้าเส้นทีหลังเรือจากวัดแสน ...เรือจากวัดแสนอดีตแชมป์ปีที่แล้วดูจะมีภาษีดีกว่าเพราะได้เตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดี และอยู่ในล่องน้ำลึก... ชายที่นั่งข้างๆ ข้าพเจ้าว่า รอบหน้าเรือของวัดเขาต้องชนะให้ได้ เพราะถ้าแพ้จะตกรอบทันที แล้วเขาก็ยกแก้วขึ้นดื่ม...!
    การแข่งขันเข้มข้นขึ้นทุกเที่ยว เพราะนั่นคือการแก้ตัวสำหรับผู้แพ้ในครั้งแรก เรือจากวัดเชียงทองผ่านเข้ารอบไปแล้ว เป็นทีมแรก... มีเรือจากหนองคายและเวียงจันทน์ผ่านเข้ารอบลำดับ เมื่อโฆษกประกาศว่าเรือที่จะทำการแข่งคู่ต่อไปคือเรือจากวัดแสนกับวัดอำไพ โดยเที่ยวนี้จะสลับล่องน้ำกัน
    เสียงกองเชียร์ดังไล่ฝีพายให้จ้วงพายหนักๆ แรงๆ และให้หน้าพายกินน้ำเยอะๆ
    เอ้า...เอ้า...เอ้า...บึด...!
    เมื่อเรือแล่นเลยผ่านกองเชียร์ของพวกเราไปดูเหมือนว่าเรือจากวัดแสนจะนำอยู่เล็กน้อย แล้วสุดท้ายเรือจากวัดอำไพก็ตกรอบ... ถึงแม้ว่าเรือจะแพ้แต่กองเชียร์ก็ไม่ได้แสดงความผิดหวังอย่างไร เพราะคิดว่าเรือจากวัดแสนนั้นเก่งมาก ...กองเชียร์เปลี่ยนใจไปเชียร์ทีมอื่นต่อไปอย่างไม่ติดใจในทีมเรือของตน ...ข้าพเจ้าชื่นชมน้ำใจนักกีฬาของเหล่ากองเชียร์กลุ่มนี้เป็นอย่างยิ่ง ...เอ้ายก...! ตำจอก
    เมื่อเวลาผ่านไปครู่ใหญ่ข้าพเจ้าจึงล่ำลาเหล่ากองเชียร์นั้นกลับไปพักผ่อนที่เรือนพัก เพราะเพลียมาก
    วันนั้นหลายอย่างมีแต่ความสนุกสนาน และมิตรภาพ เป็นอย่างนี้เหมือนทุกครั้งที่ข้าพเจ้าได้เดินทางมาหลวงพระบาง จนบางครั้งอดคิดไม่ได้ว่า อะไรคืความสุขที่แท้จริงของชีวิต อะไรเป็นของจริง อะไรเป็นมายา อะไรคือความสวยงามของมรดกโลก


(Root) 2010122_47288.gif    ข้าพเจ้านั่งริมทางเขึ้น-ลงท่าเรือไปเชียงแมนใกล้เรือนพัก แดดสวยลับแม่น้ำโขงอีกครั้งในเย็นของวันแข่งเรือที่หลวงพระบาง ใจข้าพเจ้าไม่อยากกลับเรือนเพื่อเก็บข้าวของเดินทางกลับกรุงเทพฯ อยากจะนั่งริมน้ำโขงมองสายน้ำแห่งชีวิตที่มีเรื่องราวมากมาย ...ในอดีตการแข่งเรือนั้นจะแข่งที่แม่น้ำโขง เพิ่งจะเปลี่ยนไปแข่งที่น้ำคานหลายปีมานี้เอง... มองแม่น้ำโขงเห็นวิถีชีวิตหลากหลาย แปลงผัก ชาวประมง คนร่อนทอง คนเรือและขยะ...
    เขื่อนในจีน ปลาบึก และปลาอีกหลายพันชนิด สัตว์น้ำอีกมากมาย มนุษย์ สัตว์ พืชพรรณ หลายสิ่งมีชีวิตที่ต้องอาศัยสายน้ำแห่งนี้ แล้วบทเพลง “แม่โขงร้องไห้” ที่แต่งโดยลือชัย งามสม ของวงคาราบาวก็แว่วดังๆ ในใจ ... “ต้นไม้ขยายร่มเงา นกกาเฝ้าเข้าอยู่อาศัย ต้นน้ำที่รินไหล บรรจบเป็นสาย ขยายความชุ่มฉ่ำ ต้นรักถักทอสายใย สองฝั่งลาวไทยหัวใจดื่มด่ำ ต้นน้ำสร้างเขื่อนกั้นน้ำ แม่โขงชอกช้ำลำน้ำเปลี่ยนไป...”

(Root) 2010122_40822.jpgจะแบกกล้องไปทำไมหลายตัว ...เกะกะ


Advertising Zone    Close
ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...