walker นักเดินทางด้วยเท้า

 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  |  
 ตะกร้าสินค้า (0)

รอบรู้เมืองลาว    เวียงจันทน์   ตำนานโขง  หลวงพระบาง  งานแข่งเรือ  วัดต่างๆ ในหลวงพระบาง  จำปาสัก    โปรแกรมเที่ยวหลวงพระบาง (Root) 2010122_47288.gif 

 

ตำจอกบอกตำนานของ

    น้ำของหรือแม่น้ำโขง แม่น้ำนานาชาติสายใหญ่และ มีความสำคัญอย่างมาก เปรียบดังเส้นเลือดใหญ่ของ 6 ประเทศ ได้แก่ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชาและไหลสู่มหาสมุทรแปซิฟิกที่ประเทศ เวียดนาม มีความยาวประมาณ 4,350 กิโลเมตร โดยมีระยะทาง ความยาวที่ไหลผ่านในประเทศลาวโดยประมาณ 1,900 กิโลเมตร ความเร็วของปริมาณน้ำ 15,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีในฤดูแล้ง และความเร็วประมาณ 67,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในฤดูน้ำหลาก แต่หลังจากมีการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศจีนทำให้ เกิดกระทบต่อระดับน้ำในประเทศร่วมสายน้ำเป็นอย่างมาก ครั้งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์เมืองหลวงพระบางเคยถูกกระแสน้ำจากน้ำคาน รวมกับน้ำจากแม่น้ำโขงนี้ท่วมเมื่อปลายปี ค.ศ.1965 ยังผลให้เมือง หลวงพระบางต้องกลายเป็นเมืองบาดาล หากท่านใดที่ได้ไปเยือน เมืองนี้แล้วแทบจะไม่เชื่อว่าหลวงพระบางเมืองนี้จะเคยถูกน้ำท่วม ลองคิดเล่นๆ ว่าจะมีปริมาณน้ำมากขนาดเท่าไรจะยังผลให้เมือง ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 700 เมตร แห่งนี้ท่วมได้
    การเดินทางไปหลวงพระบางนั้น ทำได้ 3 วิธี คือ
    1. ทางเครื่องบิน
    2. ทางรถ
    และ 3. ทางเรือ
    การเดินทางโดยเรือนั้นใช้เวลานาน แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว กลับคิดว่า ระยะทางและเวลานั้นมิได้เป็นอุปสรรค์ในการเดินทาง ยิ่งใช้เวลาเดินทาง ยาวนานเราก็ได้สัมผัสระหว่าง 2 ข้างทางได้นานขึ้น ดังสำนวนของปราชญ์ชาวตะวันออกท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “จุดหมาย ปลายทางคือสิ่งที่วาดหวังแต่ระหว่างทางคือประสบการณ์ที่จะพาเรา ไปสู่จุดหมาย” แน่นอนว่าข้าพเจ้าจะต้องใช้เวลารวมระยะเวลาจาก กรุงเทพฯ สู่หลวงพระบาง 2 วัน 2 คืน ถ้าทุกอย่างไม่คลาดเคลื่อน
    ข้าพเจ้าออกเดินทางจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต) โดยรถโดยสารปรับอากาศในเวลา 18.00 น. มุ่งตรงสู่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย นั่งรถไป 1 คืน พอฟ้าสางก็ถึงเชียงของพอดี สำหรับผู้ที่ มีความประสงค์จะไปหลวงพระบางจะไม่มีเวลาเอ้อระเหยลอยชายหรือ เดินนวยนาด เพราะเรือโดยสารขนาดกลางที่ไปเมืองหลวงพระบางมี เที่ยวเดียวคือเวลา 9 โมงเช้า ส่วนเรือลำอื่นๆ จะไปยังเส้นทางอื่นหรือ ไปไม่ถึง ฉะนั้น จึงต้องรีบข้ามเรือไปด่านตรวจคนข้ามแดนที่ท่าเรือ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาวให้เร็วที่สุดเท่าที่จะรีบได้ หากพลาดเรือลำนี้คงต้องค้างคืนที่นี่เพื่อรอเรือในวันรุ่งขึ้น  แล้วข้าพเจ้า ก็ไม่ประสงค์เหมาเรือเร็วที่จะต้องสวมหมวกนิรภัยนั่งเรือเท่าไรนัก…? เพราะกลัว อนึ่งข้าพเจ้าอยากนั่งชมบรรยากาศ สองฝั่งโขงมากกว่าการ นั่งตัวเกร็ง ด้วยความเร็วเรือประมาณ 7-9 ชั่วโมงถึงหลวงพระบาง โชคดีที่เช้านี้ข้าพเจ้ามาทันเวลาและเรือมีที่นั่งว่างสำหรับข้าพเจ้า
    แดดระคนผิวน้ำเรื่อระยิบยับพราว เรือล่องไปตามแม่น้ำโขง สองฝั่งของแม่น้ำมีความแตกต่างทางทัศนวิสัยมีเพียงเล็กน้อย แต่พอเรือแล่นออกมาสัก 30 นาที ความแตกต่างระหว่าง 2 ฝั่งมีให้เห็น อย่างชัดเจน คือ ฝั่งไทยจะเป็นหาด ส่วนทางฝั่งลาวจะเป็นหน้าผาแบ่ง ภูมิประเทศตามธรรมชาติระหว่าง ไทยกับลาวอย่างเห็นได้ชัด
     เรือค่อนข้างแออัด เพราะ มีสินค้าจำนวนมากที่พ่อค้าชาวลาว มาซื้อจากฝั่งไทยเพื่อนำกลับไปขาย ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอุปโภค เช่น ผงซักฟอก ยาสระผม สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น  บางคนมาจากหลวงพระบาง หรือตามหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่ระหว่าง ทาง บนเรือมีพ่อค้ากับผู้โดยสาร ชาวลาว 10 คน ชาวไทย 5 คนและ ที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรป
    ข้าพเจ้าได้ที่นั่งทางริมซ้าย จึงได้สัมผัสธรรมชาติของขุนเขากับ สายน้ำอย่างไม่ต้องมีใครมานั่งบัง ทัศนียภาพ ทำให้สามารถถ่ายภาพ บรรยากาศแม่น้ำโขงได้หลายภาพ ส่วนหนุมชาวลาวที่นั่งมาข้างๆ รู้จัก กันเมื่อเรือแล่นมาได้สักครู่ใหญ่ คือ สหายพอนไซ เขาเล่าให้ฟัง ว่า เขาต้องเทียวไปเทียวมาระหว่าง ห้วยทรายกับหลวงพระบางเดือนละ 2 ครั้ง เพราะต้องมาหาซื้อเครื่องค้า ไปขายที่ลาวจะไม่เรียกสินค้าว่า “ของ” เพราะอีกนัยจะหมายถึงสิ่งที่มีติดตัวมาโดยเฉพาะแม่ค้าถ้าใช้ คำว่า “ขายของ”1 จะมีความหมายไปในทางไม่ดี ดังนั้นจึงเรียกว่า “ค้าเครื่อง” การสนทนาของข้าพเจ้า กับพอนไซเริ่มออกรส เมื่อผ่านดีกรีของเบียร์ลาวที่แก่งผาได แก่งหินหรือโขดหิน ชาวลาวจะเรียกว่า “ผา” ที่ผาไดนั้น เป็นจุดสิ้นสุดของเส้นแบ่งเขตแดน ตามธรรมชาติไทย-ลาว และ ต่อไปนี้ทั้งสองฝั่งโขงคือประเทศลาว
    สองฝั่งของแม่น้ำโขงในประเทศลาวจะเต็มไปด้วยแก่งและ ผาหินเล็กๆ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับการเดินเรือ ในบางครั้ง น้ำลงมากจนเรือไม่สามารถเดินทางผ่านไปได้ต้องจอดรอให้น้ำขึ้น หรือบางทีต้องจอดแวะขนย้ายสัมภาระบางส่วนลงจากเรือแบกของ เดินตามเรือจนพ้นช่วงที่น้ำตื้นไปก่อน แต่การเดินทางครั้งนี้เป็นช่วง น้ำหลาก… ผู้ร่วมเดินทางของเราจึงไม่ต้องลำบากขนย้ายสัมภาระ เดินตามเรือ และเมื่อมีน้ำมากระหว่างสองฝั่งโขงจึงมีน้ำตกน้อยๆ ให้ชม บรรเทาความเมื่อยขบจากการนั่งนานๆ
     เรือจอดแวะให้ผู้โดยสารขึ้นลงเป็นระยะตามท่าเรือใหญ่ บ้างเล็กบ้างจนดูเอ้อละเหยลอยชาย ทำให้การเดินทางดูไม่เร่งรีบ เท่าที่ควร
    ข้าพเจ้าโดยสารเรือขนาดกลางที่สามารถเดินไปมาได้ แต่ก็เดินไปวนมาในบริเวณจำกัดเท่านั้น เพราะมีกระเป๋า สัมภาระ สินค้าวางระเกะระกะ เต็มไปหมด ข้าพเจ้าจึงได้แค่ลุกเดินไปยัง ห้องน้ำเท่านั้น และการสนทนากับพอนไซก็ดูจะออกรสมากขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งก็คุยเรื่องขำขำชวนหัวและเรื่องส่วนตัว จนข้าพเจ้าไม่ได้พะวง กับการมุ่งหน้าไปหลวงพระบางเท่าที่ควรจะเป็น  
    สหายพอนไซเล่าให้ฟังว่าเขาเป็นชาวอุดมไซ มาได้เมียที่หลวงพระบางมีลูกชาย 1 คน เขาเล่าให้ฟังว่า รัฐบาลลาว มีนโยบายส่งเสริมทางด้านการศึกษาเป็นการเร่งด่วน สำหรับเด็กที่ไป โรงเรียนจะได้เบี้ยเลี้ยง โดยโรงเรียนส่วนใหญ่จะตั้งให้ติดถนนใหญ่ เพื่อให้การเดินทางไปโรงเรียนได้สะดวก รัฐบาลลาวต้องการพัฒนา ประชากรที่เป็นอนาคตให้มีความรู้ โดยงบประมาณที่จะมาจัดสรร ให้กับการพัฒนาทางการศึกษานั้นมีจำนวนมากกว่างบประมาณ ด้านอื่นๆ ของประเทศ จากการที่ได้นั่งสนทนากับพอนไซมาค่อนวัน ข้าพเจ้าสังเกตลักษณะการเจรจาของพอนไซเป็นคนอ่อนน้อม ถ่อมตน สุภาพ อัธยาศัยดี ไม่นานเขาก็ยื่นหมูหลายแดดทอดแบ่งให้แกล้มกับ เบียร์ ที่เรียกอย่างนั้นเพราะสีของหมูน่าจะผ่านการผึ่งแดดมานาน พอสมควรจนสีสันแห้งเกรียมจึงมิอาจเรียก หมูแดดเดียว ได้
     ตามกำหนดการเย็นนี้เรือของเราจะหยุดพักที่บ้านปากเบง เมืองท่าที่เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำเบงกับแม่น้ำโขง มีเรือนักท่องเทียวและเรือสินค้ามาหยุดพักค้างคืนที่นี่หลายลำ ข้าพเจ้าได้ขอเช่าบริเวณที่พักในเรือ ซึ่งเป็นห้องโถงแบ่งกันนอน ได้หลายคนโดยได้จับจองอาณาเขตเพียงเล็กๆ สำหรับยืดแข้งยืดขา เพียงเล็กน้อย แต่พอเรือเทียบท่าพอนไซก็ชักชวนให้ลงไปหาทำเล เหมาะๆ ปูเสื่อ ก่อกองไฟเล็กๆ พอได้ไออุ่น ตั้งวงที่บนเนินเหนือหาด  ข้าพเจ้านั่งอยู่สัก 2 จอก ก็ขอตัวเดินชมบรรยากาศ อาคารบ้านเรือน และวิถีชีวิตของชาวลาวบริเวณท่าเรือปากเบง
    ปากเบงเป็นเมืองท่าเล็กๆ มีประชากรอาศัยอยู่ไม่มากนัก มีอาคารปลูกถาวรไม่กี่หลังคาเรือน อาชีพส่วนใหญ่จะเป็นชาวประมง เกษตรกร และค้าของป่า และเมื่อมีเรือมาเทียบแม่ค้าพ่อค้าหิ้วจะปลา ตัวโตๆ ยืนบอกราคาให้แก่ผู้เดินทางรอนแรม แต่ส่วนใหญ่จะเป็น ชาวลาวที่ซื้อไปทำอาหารริมน้ำโขง เช่น ต้มปลา หรือไม่ก็ทาเกลือปิ้ง เป็นอาหารเย็นคู่กับข้าวเหนียว
     ปากเบง เป็นเพียงทางผ่าน สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปเมืองหลวง พระบาง มีเกสต์เฮาส์เล็กๆ ไม่กี่แห่ง มีร้านค้าเครื่องเล็กๆ เพียง 4-5 ร้าน  ข้าพเจ้าเลือกเฝอวัว  ชามโต  พอให้ดีกรีในร่างจางลงบ้าง ...ใน เวลาค่ำจะเงียบสงัดสงบจนดูเหงา
    ไม่นานตะวันก็ลับน้ำโขง ข้าพเจ้าเดินกลับมาบริเวณท่าเรือ แต่ปรากฎว่าวงสนทนาได้เปลี่ยน เป็นวงสำรับกับข้าวมื้อเย็น พอนไซเชิญชวนข้าพเจ้าร่วมกินข้าว ด้วยกัน  ข้าพเจ้ายิ้ม และขอปฏิเสธ เพราะว่าได้กินเฝอ มาแล้ว แต่พอนไซก็คะยั้นคะยอ ให้ร่วมวง โดยลุกเดินมาชวนถึงตัว  (โดยส่วนมากคนลาวจะเรียกแขกให้ ร่วมกินร่วมดื่มด้วยกันเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น คือ ครั้งที่ 1 เรียกด้วย มิตรภาพ ครั้งที่ 2 ด้วยความจริงใจ และหากมีครั้งที่ 3 ถือเป็นการให้ เกียรติอย่างยิ่ง และสำหรับข้าพเจ้า การถูกเรียกให้ร่วมวงเพียงครั้งแรก ก็เป็นการให้เกียรติอย่างยิ่งสำหรับ มนุษยสัมพันธ์ที่เปี่ยมไมตรีจิตและ มิตรภาพ) มื้อเย็นวันนี้เป็นมื้อใหญ่ พอสมควร พอนไซรู้จักกับคนเรือ เป็นอย่างดีเพราะเหตุที่เป็นพ่อค้า ต้องเทียวไปเทียวมาอยู่เป็นประจำ จนรู้จักกับคนเรือ ในวงอาหารเย็นจึงมีสมาชิก 5-6 คน อาหารหลัก จะเป็นข้าวเหนียว ลาบปลาสับ ต้มผักหวาน ต้มปลา (คล้ายๆ กับต้มยำน้ำใสบ้านเรา แต่ ไม่เผ็ดมาก) แจ่วบองชามโต และสารพัดผัก ชาวลาวจะนิยมรับประทานผักสด และในสำรับมื้อนี้ มีนานาผักเป็นจำนวนมากหลากหลายชนิด ทั้งที่ข้าพเจ้ารู้จักและ ไม่รู้จักและบางชนิดเคยได้ยินชื่อ แต่ไม่เคยเห็นมาก่อน มื้อนั้นข้าพเจ้า ร่วมวงอาหารเย็นกับชาวลาวเป็นครั้งแรกอย่างไม่มีการจัดฉากหรือ การจ้างวาน ไม่นานสำรับอาหารเย็นก็เปลี่ยนเป็นวงสุราอีกครั้ง ทองไซ ลูกชายของคุณลุงเจ้าของเรืออายุประมาณ 17-18 ปี รับทำหน้าที่ มืออ่อน2ด้วยภาวะจำยอม เพราะในวงไม่มีหญิงสาวและทองไซ อายุน้อยที่สุด ครั้นข้าพเจ้าขอทำหน้าที่นี้เอง ทางพอนไซบอกว่า ข้าพเจ้าเป็นคนไทย ไม่เหมาะ ขอให้คนลาวผู้เป็นเจ้าบ้านรินเหล้า ให้แขกบ้านกินดีกว่าและอีกอย่าง เขากลัวว่าข้าพเจ้าจะเมาเพราะความ แรงของดีกรี ทองไซเป็นมืออ่อนอยู่นานตั้งแต่เรือเทียบท่าจนบัดนี้ หน้าของเขาแดงกร่ำไปด้วยฤทธิ์ของดีกรี สุดท้ายเขาต้องขอสละ ตำแหน่งมืออ่อนหันหยิบกีตาร์ขึ้นมาขับกล่อมแทน ตอนแรกๆ ก็เป็น เพลงสตริงวัยรุ่นของไทยนานๆ ไปเริ่มเป็นเพลงลูกทุ่งทั้งไทยทั้งลาว ผสมกันไป เบียร์ขวดสุดท้ายเหลือเพียงความว่างเปล่า คุณลุงคนขับเรือ บอกให้ทองไซไปหยิบสุรากลั่นที่เรือมาให้พวกเรา คุณลุงคนขับเรือนั้น นั่งร่วมสนทนาแต่ไม่ได้ดื่มเพราะบอกว่าพรุ่งนี้มีศึกหนัก หนทางไป หลวงพระบางต้องผ่านแก่งและผาที่อันตรายอีกมากหลาย ไม่นาน คุณลุงก็ขอตัวกลับไปนอนในเรือ พวกเราที่เหลืออีก 4-5 คนต่างขอบใจ สุรากลั่นของคุณลุงที่ยกให้พวกเรา ทั้งที่คุณลุงบอกว่าจะเอาไปดื่มฉลอง กับเพื่อนที่หลวงพระบาง น้ำสุราใสถูกยกขึ้น ชนแก้ว หลายครั้ง ทั้งที่ปริมาณดีกรีของสุราขาวกลั่นเองนี้ร้อนแรงมากจน มีคนกล่าวเกินจริงว่า ลมหายใจของผู้ดื่มนั้นสามารถจุดไฟติดได้...!     ส่วนใหญ่เหล้ากลั่นที่นี้ จะทำมาจากข้าวเหนียวหรือข้าวโพด ทำให้มีกลิ่นที่หอมละมุนแปลกๆ คล้ายๆ กินข้าวหมาก แต่มีรสนุ่มลิ้น เมื่อผ่านไหลลำคอประหนึ่งกับถูกน้ำร้อนที่ออกมาจากตู้เย็นลวก…? โสตประสาทการรับรู้บอกได้ทันทีว่าเหล้ากำลังไหลผ่านส่วนใดในร่างกาย ส่วนใหญ่ผู้ที่ดื่มจะต้องกัดฟันและจนต้องพ่นลมออกมาทางหูทางจมูก ระบบเลือดจะฉีดแรงขึ้นจนหน้าเริ่มแดงขึ้นมาภายใน 2-3 นาที ฟืนมอดไปหลาย อากาศเย็นจนถึงเย็นจัดเริ่มคืบคลานเข้ามาแทน ความอุ่นจากกองไฟจนข้าพเจ้าต้องขอตัวกลับขึ้นเรือเพื่อพักผ่อน
    เสียงน้ำกระทบเรือดังตลอดทั้งคืน ท่ามกลางความหนาวเย็น การนอนบนเรือริมน้ำโขงช่างเป็นความรู้สึกที่เกินจะบรรยายได้ ทั้งความเงียบเย็นที่พยายามแทรกผ่านผ้าห่มและเสื้อกันหนาวของ ข้าพเจ้า การนอนขดตัวคุดคู้ให้กระแสลมเย็นมาปะทะร่างน้อยที่สุด นั้นเป็นการนอนที่เมื่อยขบและแสนทรมานเอาการอยู่ แต่สุดท้าย ข้าพเจ้าก็ม่อยหลับซึ่งอาจเป็นเพราะความเพลียหรือฤทธิ์สุรากลั่น...
    เช้านี้อากาศเย็นจนข้าพเจ้ายังขดตัวภายใต้ผ้าห่ม เสียงคนเริ่ม เอะอะจึงรู้ว่าเกือบจะ 9 โมงเช้า เรือกำลังจะออกจากท่า ท่ามกลาง ความงัวเงียข้าพเจ้ามองอะไรแทบไม่เห็น เพราะแม่น้ำโขงทั้งสาย ถูกบดบังไปด้วยหมอกขาวโพลน “สบายดี” (lt[kpfu) พอนไซเดินมา ทักทายและบอกว่าเรืออาจจะถึงหลวงพระบางล่าช้ากว่ากำหนดมาก เพราะหมอกลงจัด การเดินเรือไม่สามารถเร่งเครื่องยนต์ได้เต็มกำลัง เนื่องจากทัศนวิสัยในการมองเห็นเลวร้าย สำหรับมื้อเช้านี้ข้าพเจ้าได้ กาแฟลาว3 1 จอก กับปาท่องโก๋หรือขนมคู่ (0t|q,76j) ซึ่งพอนไซ เป็นธุระจัดหามื้อเช้ามาให้ 9 โมงกว่าๆ เรือจึง ออกเดินทางอย่างช้าๆ กาแฟลาว มีลักษณะเฉพาะถิ่น มีกลิ่นที่หอม ละมุน รสไม่ขมมาก แต่ก็สามารถทำให้หายอ่อนล้าจากดีกรีเหล้ากลั่นเมื่อคืนได้ พอนไซ ยังดื่มต่อเนื่อง จากเมื่อคืน โดยรินเบียร์ลาวอุ่นๆ ให้ ข้าพเจ้าดื่ม 1 จอก ส่วนทองไซนั่งเกากีตาร์เบาๆ จนข้าพเจ้าคล้อยตามเสียงเพลงลาว หลุดพะวังหลงไปกับเกลียวน้ำโขง
    ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ถึงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถ้าโดยสารมากับเรือล่องแม่น้ำโขงจะได้เห็นทิวทัศน์อันสวยงามของ ริมสองฝั่งโขง ทั้งเป็นช่วงที่อากาศกำลังเย็นสบายมีไอหมอกขาวลอย เหนือแม่น้ำนับว่าเป็นภาพที่หาดูได้ยาก แดดอ่อนกระทบผิวน้ำระยิบ เมื่อหมอกเริ่มจางลงแต่ความเย็นนั้นยังคงร้ายอยู่ วันนี้พอนไซอาสาจะ เล่าเรื่องราวในตำนานของสองฝั่งโขงในเส้นทางเดินเรือ เพื่อให้ออกรส มากขึ้นเบียร์ลาวที่อีก 4-5 ขวด จึงหยิบยกขึ้นมาเป็นเครื่องดื่ม แก้กระหาย
    เรือล่องเอื่อยบ้างเร็วบ้าง ผ่านไปไม่นาน เรือของเราก็จอดรับ ผู้โดยสารที่ท่าซ่วง ซึ่งมีนักท่องเที่ยว ชาวไทยอีก 4-5 คนมารอขึ้นเรือ พอนไซเล่าว่า ที่ท่าซ่วงมีถนนที่ตัดไปยังบ้านหงสา ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ จังหวัดน่านของประเทศไทยทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวไทยไม่น้อยข้าม มาต่อเรือไปหลวงพระบางที่นี่ หากแต่เส้นทางนี้ยังไม่สะดวกเท่าที่ควร หรือน้อยคนนักจะรู้ ไม่นานเรือก็แล่นมาถึงบริเวณที่กระแสน้ำโขง ไหลเอื่อยราวกับนิ่งสนิท แต่พอนไซบอกว่าบริเวณนี้น้ำลึกมากจน ผู้โดยสารเข้าใจว่าน้ำไม่ไหลเลย ซึ่งตรงกับสำนวนไทยที่ว่า “น้ำนิ่ง ไหลลึก” บริเวณนี้ชาวลาวระแวกนี้ จะเรียกว่า “แก่งแอ่น”
    ข้าพเจ้านั่งมองป่าที่รักชัฎปรกคลุมไปด้วยไม้ใหญ่หลากหลาย ชนิดหลายต้นข้าพเจ้าไม่เคยเห็นหรือไม่รู้จัก ป่าไม้ของลาวอุดมสมบุรณ์ มากจนข้าพเจ้าอดคิดไม่ได้ว่าในป่านั้นจะประกอบไปด้วยสัตว์ป่าเป็น จำนวนมากและที่สิ่งที่คู่กับป่าคือ เสือ พอนไซเลยถือโอกาสเล้าเรื่อง เสือเหลืองหรือเสือโคร่งตัวใหญ่ที่เคยถูกล่าเพราะเข้าไปโขมยกินไก่ของ ชาวเขา พอนไซเล่าว่าขนาดตัวของมันวัดจากหัวถึงหางเกือบ 2 เมตร ข้าพเจ้าไม่ได้กลัวว่าจะเจอกับเสือตามชายหาดริมโขงแต่กลับชื่นชม ในความอุดมสมบูรณ์ของป่ามากกว่า พอนไซยังเล่าให้ฟังอีกว่าชาวเขา ที่นี่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเลี้ยงสัตว์ เพราะกลัวเสือมาล่าไปเป็นอาหาร และบางครั้งอาจทำอันตรายแก่พวกเขาได้ ดังนั้น ชาวเขาทั้งหลาย จึงนิยมออกล่าสัตว์และเก็บของป่ามากกว่า แต่มีสิ่งหนึ่งที่ชาวเขา ในลาวนั้นไม่ยุ่งและข้องเกี่ยวคือไม้กฤษณา ไม้เนื้อหอมราคาแพงของ ชาวลาวที่มีการลักลอบตัดอยู่เสมอ ด้วยว่าชาวเขานับถือภูตผีกันมาก และเชื่อกันว่าต้นกฤษณาเป็นที่อาศัยของนางไม้เจ้าที่เจ้าทางประจำป่า ข้าพเจ้ายอมรับในกุศโลบายของชาวเขาที่ทำให้ผืนป่าส่วนใหญ่ในลาวนั้น ยังอุดมสมบูรณ์อยู่
    ไม่นานเรือก็แล่นเข้าสู่เขต เมืองง่า บ้านห้านเตอะ เป็นจุดที่มี น้ำเชี่ยวและอันตรายอีกจุดหนึ่ง ชาวบ้านจะเรียกว่า “แก่งเตอะ”  และเมื่อถึง “แก่งฮ่างใหญ่”  พอนไซก็อมยิ้มแสดง ความดีใจ และบอกให้ข้าพเจ้าทราบว่าใกล้จุดหมายแล้ว เพราะฝั่งซ้าย ของเรือคือ แขวงเมืองหลวงพระบาง ซึ่งเขียวชอุ่มอุดมสมบูรณ์หนาทึบ ไปด้วยต้นไม้หลากหลายนานาพรรณจนดูน่ากลัวราวกับซ่อนเร้น บางสิ่งไว้   
    ท่ามกลางความสงสัยและ ความอยากรู้ผสมกับความตื่นเต้น ที่อีกไม่นานข้าพเจ้าก็จะถึงเมืองที่นักแสวงหาบางคนเรียกดินแดน แห่งนี้ว่า “ยูโธเปียแห่งอุษาคเนย์” สายตาที่เปี่ยมไปด้วยอาการ ซอกแซกและปากที่ซักไซร้ก็ปริถามพอนไซถึงภูเขารูปร่างแปลกๆ ทางฝั่งซ้ายมือที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งตระหง่านอยู่ตรงข้าม กับถ้าติ่ง
    “ชาวลาวเขาเอิ้นว่า โลงนางอั้ว” ด้วยลักษณะของภูเขาที่เป็น รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายกับโลงศพ ข้าพเจ้าพยักหน้าชื่นชมจินตนาการ ของชาวลาว พอนไซเล่าต่อไปว่า เดิมทีมีนิทานเกี่ยวกับภูเขาโลงศพนี้ ในโลงศพนี้มีอยู่ 2 ศพ คือ นางอั้วกับขุนลู ทั้งสองคนนี้รักกันมาก แต่ขุนลูนั้นจนยาก พ่อแม่ฝ่ายนางอั้วไม่ชอบ จึงไม่ให้ทั้งสองคนนี้ แต่งงานกัน นางอั้วจึงตัดสินใจผูกคอตายที่ภูเขาลูกนี้เมื่อขุนลูรู้ความ จึงเอามีดง้าวปาดคอตายตาม ศพของทั้ง 2 คน จึงบรรจุอยู่ด้วยกัน ณ ที่ภูเขาลูกนี้ พอนไซถอนหายใจเมื่อเล่าจบแล้วยกจอกเบียร์ขึ้นดื่มแก้ กระหายก่อนจะบ่นเป็นภาษาลาวเบาๆ ซึ่งข้าพเจ้าจับใจความได้ว่า “เฮ่อ ความฮักนี้ ไผสิยากจะเข้าใจ ทั้งที่มันเป็นเฮื่องของ 2 โตแท้ๆ แต่งกันไปก็กินนอนกัน 2 คน พ่อ แม่ บ่ได้มานอนสาดนำกัน จั๊กเทื่อ”
    พอนไซเสริมอีกว่า บางคน ก็เล่าว่าตรงโลงนั้นเป็นเมืองขีดขิน ซึ่งมีหน้าผาแห่งหนึ่งชื่อว่า ผาฮุ้ง (ผารุ้ง-เหยี่ยวรุ้ง) ตามนิทาน พื้นบ้านของลาวเรื่อง“ท้าวคัดทะเนก ท้าวคัดทะนาม” ซึ่งมีใจความ คล้าย “หลวิชัย คาวี” ของไทย นอกจากนี้ พอนไซยังเสริมตำนาน การแบ่งอาณาเขตของลาวขมุกับลาวเทิงว่า ข้างผารุ้งนั้นจะมีผาอีก ผาหนึ่ง ชาวลาวเรียกว่า “ผาแป้น” หมายถึง เป้าที่ใช้ยิงธนู ครั้งหนึ่ง เจ้ามหาชีวิตของลาวขมุกับลาวเทิงมานัดท้าประลองเพื่อแบ่ง ดินแดนกัน โดยมีกติกาว่า ใครยิงธนูปักที่กลางเป้าจะได้ปกครอง อาณาเขตพื้นราบ ปรากฏว่าเจ้ามหาชีวิต ทั้ง 2 ยิงถูกกลางเป้า เหมือนกัน แต่เจ้ามหาชีวิตของลาวเทิงเอาขี้สูด (ชันนะโรง) ติดปลาย ธนูจึงปักที่เป้าให้คนเห็นกันทั่ว และได้ปกครองอาณาเขตในพื้นราบ ส่วนมหาชีวิตลาวขมุต้องย้ายไปปกครองบนพื้นที่เขาสูง ตำนานนี้ จึงจะพบเห็นชาวขมุอาศัยตามภูเขา ส่วนชาวลาวเทิงมักอยู่ในพื้นที่ราบ เป็นส่วนใหญ่
    นั่งเรือมาสักพักก็เห็นเรือ ของชาวลาวจอดร่อนทรายหาทอง ตามหาดน้ำโขงบ้างเป็นเรือขนาดใหญ่ บ้างขนาดเล็ก พอนไซเล่าให้ฟังว่า เศษทองที่ร่อนได้ส่วนมากจะเป็น เศษทองเหลืองหรือทองคำลาว ไม่ใช่ทองคำเหมือนในประเทศไทย นอกจากนี้พอนไซจึงอธิบายภาษา ลาวให้รู้อีกคำหนึ่งคือ คำว่า คำ จะหมายถึงทองคำ ส่วนคำว่า ทอง นั้นจะหมายถึงทองเหลือง หรือทองคำลาวที่ชาวลาวนิยมใส่กัน ในงานบุญต่างๆ โดยสีจะออกส้มๆ


   

พอนไซส่งข้าวเหนียวกับ หมูหลายแดด (หมูแดดเดียวที่โดน แดดมามากกว่า 1 ครั้ง) ให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้านั่งตำจอกฟังพอนไซเพลิน จนลืมเวลาไปพอเหลียวมองนาฬิกา ก็เกือบ 4 โมงเย็น พอนไซบอกว่า ไม่กี่อึดใจก็ถึงจุดหมายปลายทาง  แต่ว่ายังเหลือแก่งที่น่ากลัวอีกแห่ง หนึ่ง ซึ่งนักเดินเรือหรือผู้โดยสาร ชาวลาวเกรงกลัวเป็นนักหนา คือ แก่งเหลือก ด้วยความร้ายกาจของแก่งนี้ เอาการนักจน ชาวลาวกลัวจนตาเหลือก จึงเป็นที่มาของชื่อแก่งเหลือกพอนไซ พูดเสร็จก็ยิ้มหัวด้วยดีกรีของเบียร์ลาว
    พอถึงบริเวณแก่งเหลือกจะมีหมายหลักน้ำบอกเส้นทางที่ ชาวเดินเรือจะต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะหมายหลักน้ำนั้นจะบอก ลักษณะของแก่งหินที่แหลมคม ซึ่งพร้อมเสมอที่จะฉีกท้องเรือ ให้แตกได้ทุกเสี้ยววินาที ยิ่งมีหมายหลักน้ำถี่มากยิ่งบอกว่าบริเวณนั้น มีแก่งหินที่ล่วงล้ำเข้ามาในแม่น้ำโขงมาก พอพอนไซพูดจบเรือก็โคลง ทำให้เบียร์ในจอกกระฉอก เพราะกระแสน้ำที่เชี่ยวน้ำตีฟองกระแทก กับแก่งหินจนฟองขาว เสียงดังฉาดใหญ่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนเสียง แม่น้ำคำรามจนข้าพเจ้าและผู้โดยสารไม่กล้าขยับเขยื่อนตัว นั่งนิ่ง ตัวเกร็ง เสียงลมหายใจแผ่วจนแทบจะลืมหายใจ ทุกคนบนเรือ นั่งนิ่งจนหน้าถอดสี เสียงลุงเจ้าของเรือร้องเรียกหา ทองไซ ให้ไปช่วย ดูร่องน้ำทางหน้าเรือด้านขวา  ทองไซละกีต้าร์ทันทีแล้วรีบกึ่งเดินกึ่งวิ่ง แทรกตัวผ่านกองสัมภาระไปดูทางน้ำด้านหน้าเรือ ส่งเสียงเอะอะ เป็นภาษาลาว จนทำให้ผู้โดยสารหวาดวิตกขึ้นมาทันที และท่ามกลาง ความหวาดกลัวเรืองโดยสารขนาดกลางหันหัวเรือหลบแก่งหิน ทางซ้ายออกสู่กลางลำน้ำยิ่งทวีความกังวลเพราะดูจะไกลฝั่งออกไป ทุกที สักครู่ลุงเจ้าของเรือก็หันมายิ้มให้กับผู้โดยสาร และชี้ไปข้างหน้า พร้อมกับบอกผู้โดยสารเป็นภาษาลาวว่า “หลวงพระบาง” ทุกคนในเรือ มองตามปลายมือที่ลุงชี้แลเห็นจุดบรรจบของแม่น้ำคานกับแม่น้ำโขง ทำให้คลายความหวาดกลัว พอนไซเทเบียร์จนหมดขวดสุดท้ายใส่จอก ยื่นให้ข้าพเจ้า พร้อมกับยิ้มแล้วก็เปรยเบาๆ ว่า “แก่งตาเหลือก”
    พอนไซว่า พอเห็น ภูนาง 4  ฝั่งเซียงแมนสิแม่นแล้ว ถึง หลวงพระบาง  พอนไซชี้ให้ดูภูเขาที่มีลักษณะเหมือนส่วนหัว คอ และหน้าอกของผู้หญิงนอนหงาย โดยหันหัวไปทางทิศเหนือหรือทาง ต้นน้ำ เวลาเพียงไม่กี่นาทีที่เห็น ภูนาง คุณลุงเจ้าของเรือก็ร้องบอก ผู้โดยสารบนเรือเป็นภาษาลาวว่า  “เกรียมโตๆ ถึงเมืองหลวงแล้ว” ทุกคนต่างตรวจตราสัมภาระของ ตนเองและเตรียมตัวแยกย้าย กันไป เวลาเพียง 2 วันกับ 1 คืน ของข้าพเจ้าที่ได้นั่งตำจอกกับ พอนไซ นั้นช่างได้สาระ ตำนาน เกล็ดเล็กเกล็ดน้อยของวิถีชีวิตของ ชาวลาวริมน้ำโขง ทั้งที่ข้าพเจ้า ไม่รู้ว่าจะตอบแทนพอนไซอย่างไร จึงจะเหมาะสมกับสิ่งที่ได้รับ เพราะ เป็นสิ่งใหม่ที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้จาก ปากชาวลาว ด้วยภาษาลาว อันหา ได้ยากยิ่งจากในหนังสือ
    ขอขอบใจสหายพอนไซ พ่อค้าเครื่องแห่งเมืองหลวงพระบาง

Advertising Zone    Close
ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...